จากบทความเก่าของผมหัวข้อ “จัดฟันตายแล้ว”ทั้ง 2 ตอน (ตอนที่ 1 อ่านได้ที่นี่ ) (ตอนที่ 2 อ่านได้ที่นี่) ผมก็ได้แลกเปลี่ยนกับหมอๆหลายท่านที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย
จริงๆแล้ว จัดฟันตายแล้ว หรือเปล่า ?
ท่านที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับบทความ มองว่า Demand ของจัดฟัน (คนไข้ใหม่) นั้นเยอะมากมาย เพราะมีเด็กเกิดใหม่ทุกปี ปีละหลายแสน ซึ่งมากกว่า Supply ของหมอที่มีอยู่มาก จัดฟันจึงไม่น่าจะตายง่ายๆ ซึ่งในแง่มุมนี้ผมเห็นด้วย
ลองดูตาราง และการวิเคราะห์นะครับ
ข้อมูลนี้เป็น Fact ที่อ้างอิงมาจากเวปไซด์ระบบสถิติและการทะเบียน เป็นข้อมูลของปี 2558 แสดงประชากรวัยรุ่น(เป็นวัยที่มองหาการจัดฟัน)
จะเห็นได้ว่า วัยรุ่นที่อายุ 15 ปี มีมากถึง 838,989 คน ถ้าหมอฟันที่ทำงานจัดฟัน รับเคสใหม่นี้ปีละ 200 คน ต้องใช้หมอฟันถึง 4200 คน เพื่อมารองรับเฉพาะช่วงอายุนี้
ทั้ง 8 แสนนี้อาจจะไม่จัดฟันทุกคน แต่จาก Trend และค่านิยมเรื่องความสวยความงาม อย่างน้อยคงเกินครึ่งหนึ่งแน่นอน
อันนี้ ยังไม่ได้นับอายุอื่นที่ไล่เลี่ยกัน คนที่จัดซ้ำ (จัดรอบสอง หรือสาม ) และคนไข้ที่ไม่อยู่ในระบบสถิตินี้ด้วย เช่น แรงงานต่างด้าวอีกหลายแสน
ที่สำคัญหมอมีขีดความสามรถที่จำกัดในการรับเคส เพราะ 1 เคส เท่าที่เห็นในปัจจุบันหมอที่จัดฟัน มักจะใช้เวลารักษาราว 2 ปี เพราะฉะนั้น หมอหนึ่งคนจะดูแลได้ไม่กี่ร้อย (หรือมากกว่าตามศักยภาพที่แตกต่างกัน) ถ้ารับมาถึงจุดหนึ่งแล้วจะไม่สามารถรับเคสเพิ่มได้ (จนกว่าคนที่รักษาอยู่จะรักษาเสร็จ)
เพราะฉะนั้นงานจัดฟันไม่น่าจะตาย ถ้า Demand ต่อปีที่จ่อคิวกันมาเยอะขนาดนี้
ผมเห็นด้วยกับ Demand ใหม่ที่เกิดขึ้นทุกปีตามหลักประชากรศาสตร์ข้างต้นทุกประการ
แต่สิ่งที่น่าคิดวิเคราะห์ คือ ทำไมคลินิกทันตกรรม ที่เน้นจัดฟัน จึงมักใช้กลุยทธิ์ลดราคา หรือ แจก แถม ละ ??
ถ้า Demand ที่ว่าเป็นแสนๆ แบบเยอะมากมายจนให้การรักษากันไม่ทัน จริงๆควรจะขึ้นราคาด้วยซ้ำ
จะลด แลก แจก แถมเพื่ออะไร ?
ภาพที่เราเห็นจนชินตา จึงมีแต่
ลดราคา
จัดโปรโมชั่น
จัดเพ็กเกจจูงใจ
ฟรี Retaniner
ฟรี Xray (ซื้อเครื่องละเป็นล้าน เพื่อบริการฟรี….)
หนักๆก็ฟรีติดเครื่องมือเลยทีเดียว
สมมุติถ้า Demand ของงานจัดฟันลดลง อันนี้ก็ว่าไปอย่างนะ เช่น หมอเยอะขึ้นแบบก้าวกระโดด และเรียนจัดฟันทุกคน หรือ ประชากรมีการหดตัวและจำนวนเกิดใหม่ลดลงอย่างชัดเจน เช่น ประเทศญี่ปุ่น และในกลุ่มยุโรป
ถ้าคนไข้ลดลงแบบที่กล่าวมา แล้วคลินิกจำเป็นต้องลดราคาเพื่อจูงใจคนไข้ อันนั่นฟังดูมีเหตุผล
ซึ่งถ้า Fact ที่ผมยกข้อเท็จจริงของประชากรไทยมีเกิดใหม่ปีละหลายแสน และ Demand ที่มากมาย เป็นความจริง คลินิกทันตกรรมแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแข่งกันลดราคาเลยแม้แต่น้อย
สิ่งที่คลินิกทันตกรรมหลายแห่งกำลังจัดโปรฯจูงใจด้วยการลดราคาจึงไม่ค่อยสอดคล้องกับ Demand
เป็นไปได้ไหม ว่าการลดราคา หรือแถมนั่นแจกฟรีนี่
อาจเป็นสิ่งที่คลินิกทันตกรรม ไม่จำเป็นต้องทำ ก็ได้ ?
ขอยกตัวอย่าง Case Study อันหนึ่ง เกี่ยวกับของแถมนะครับ
การแข่งขันของร้านหนังสือ
การขายหนังสือของร้านหนังสือ เป็นสินค้าที่ไม่มี Different ใดๆ เพราะหนังสือที่เหมือนกัน จะซื้อร้านไหนก็เหมือนกัน จุดเด่นของร้านหนังสือจึงอยู่ที่ทำเล และความหลากหลายของหนังสือ
แต่เดิม ถ้าลูกค้าอยากหุ้มพลาสติกจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
มีร้านหนึ่ง อยากจูงใจให้คนมาซื้อ ก็เลยคิดกลยุทธิ์ “หุ้มพลาสติกให้ฟรี” แถมให้ลูกค้า
ลูกค้าก็ เอ๊ะ ดีจังเลย จากเดิมทีคิดเงิน จู่ๆก็ได้ฟรี ลูกค้าก็ประทับใจกันไป เพราะเดิมทีจะต้องเสียเงินเพื่อหุ้มหนังสือ
ร้านอื่นๆที่เป็นคู่แข่งก็กลัวเสียลูกค้า ( นี่คือความลำบากของคนขายของที่ไม่มี Different ครับ) เพื่อสร้างความประทับใจก็เลยใช้กลยุทธิ์ “หุ้มพลาสติกให้ฟรี” บ้าง
จากมีแค่ 1 ร้าน ก็มีร้านที่ 2 ที่ 3 ทำตาม จนสุดท้ายทุกๆร้านทำเหมือนกันหมด
ไปๆมาๆ กลยุทธิ์ที่กะว่าจะทำให้ตัวเองเด่น พอผ่านไประยะหนึ่ง กลายเป็นไม่มีความต่างในที่สุด เพราะทุกร้าน “แจกฟรี” เหมือนกันหมด
และพอมีร้านไหนคิดอยากจะเลิกห่อให้ฟรี ลูกค้าก็โกรธ บ่น และบอกว่าจะไปซื้อที่อื่น
เพราะลูกค้าเคยชินกับการที่ร้าน “หุ้มพลาสติกให้ฟรี”
เจอลูกค้าบ่นแบบนี้ แล้วร้านไหนจะกล้ายกเลิกละครับ
คนที่ชนะคือลูกค้า เพราะไปร้านไหนก็ได้บริการที่เพิ่มขึ้นมาแบบฟรีๆ และการเป็นมาตรฐาน หรือไปสร้างนิสัยให้ลูกค้าว่านี่คือบริการ “ที่จะต้องได้รับ”
สังเกตดีๆนะครับ ว่าลูกค้า “ไม่เคยขอให้หุ้มพลาสติกฟรี” แต่ร้านหนังสือนั่นแหละที่ให้เขาเอง
สุดท้าย ทุกร้านยอดขายก็เท่าเดิม…ที่เพิ่มเติมคือ “ต้นทุน” ของพลาสติก และเวลาของพนักงานที่เสียไปในแต่ละครั้ง
จะเห็นได้ว่า จากเคสที่เล่ามา สุดท้ายในระยะยาวไม่มีร้านไหนได้ประโยชน์เลย ตรงกันข้ามกลับเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วยซ้ำ
ผมจึงมองว่า การที่คลินิกทันตกรรมชอบแจกของฟรี ประเภท ฟรี Retainer ฟรี Xray ฟรีโน่นนั่นนี่ ในอนาคตมันอาจจะไปสร้างมาตรฐานใหม่
แล้วถ้าคลินิกแต่ละแห่งทะยอยทำตามกัน สุดท้ายมันจะกลายเป็นของฟรีจริงๆนะครับ ทำเป็นเล่นไป
การลดราคาก็เหมือนกัน ถ้าลดราคามากๆ หลายๆคลินิก ลูกค้าจะเสพติดตรงนี้
อย่าลืมนะครับ ทุกครั้งที่ลด ทุกครั้งที่ฟรี ต้นทุนคุณเหมือนเดิม แถมเพิ่มขึ้นทุกปี
ค่าเช่าเพิ่มขึ้นทุกปี
วัสดุทางทันตกรรม ขยับขึ้นทุกปี
ค่าจ้างพนักงาน ก็ลดไม่ได้ ไม่เพิ่มก็น่าเกลียด
สุดท้ายคลินิกทันตกรรมก็อยู่ในสภาวะห่ำหั่นกันเองชนิดกรีดเนื้อกิน โดยมีลูกค้ามองมาด้วยตาใสๆ และคงงงว่าคลินิกทันตกรรมเราทำอะไรกัน
ผมไม่ปฎิเสธครับ ว่า จัดฟันอาจจะยังไม่ตาย
แต่มันจะโดนทำลาย ด้วยการลด แลก แจก แถม ของคลินิกทันตกรรมด้วยกันเอง
จริงๆเรามีกลยุทธิ์การตลาดอีกตั้งมากมายที่จะใช้เพื่อสร้างยอดและจูงใจผู้มาใช้บริการโดยที่ไม่ต้องมากินเลือดกินเนื้อตัวเอง โดยเฉพาะการสร้างคุณค่า (Value Creation) การสร้างความต่าง การพัฒนาบริการ และอีกสารพัดวิธี
ในเวปไซด์นี้ก็มีบทความเก่าของแนวคิดและเทคนิคการตลาดอยู่พอสมควร น่าจะพอเอาไปประยุกต์ใช้ได้ หรือถ้าท่านใดมีข้อสงสัย หรืออยากแลกเปลี่ยนความเห็น ผมยินดีต้อนรับ ทั้งในเพจธุรกิจทันตกรรม หรืออีเมล นะครับ
ปล.ตอนนี้ผมกำลังรวบีวมบมความเป็นหนังสือ “การตลาดสำหรับธุรกิจคลินิกทันตกรรม” ตอนนี้ (มกราคม 2560) ผมเขียนได้ราว 50% แล้ว ยังไงติดตามข่าวคราวได้ในเพจธุรกิจทันตกรรม นะครับ
บทความนี้ผมอ่านแล้วก็พูดได้ว่า ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะนับวันการทำธุรกิจก็มักจะมองแต่เพียงปริมาณเม็ดเงินที่ไหลเข้า-ไหลออก แต่ลืมมองไปว่าจริงๆ แล้วธุรกิจที่เราทำควรจะต้องมีจุดยืน หรือจุดขายที่ “Sustainable”
การลด แลก แจก แถม เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการทำธุรกิจ เพราะเป็นการดึงดูด จูงใจ ที่ใข้ได้ผลทีเดียว เราสามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน … แต่ทุกอย่างก็เหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ เราในฐานะผู้บริหาร หรือเจ้าของ ต้องดูจังหวะหรือเวลาที่จะใช้กลยุทธ์นี้ให้เหมาะสม
มีธุรกิจหนึ่งที่ผมชื่นชม แม้ต้องขับรถผ่านทุกวันเพราะอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้าน แต่ผมก็ไม่ค่อยได้ใช้บริการ เพราะผมไม่ได้เป็นคนที่ดื่มกาแฟ … นั่นคือ Starbucks ผมเชื่อว่าหลายๆ คนเคยใช้บริการ ด้วยเหตุผลของตัวสินค้า หรือการบริการ หรือแม้แต่การดูดีเมื่อมีสินค้าของแบรนด์นี้อยู่ที่มือเวลาเดินไปไหนมาไหน ต้องยอมรับอย่างนึงว่า
– สินค้าของเค้ามีมาตรฐานเดียวกันทุกร้าน รสชาตแต่ละสาขาที่ใช้บริการ แทบจะเหมือนกัน 100% ไม่เพียงเฉพาะในเมืองไทย ที่ต่างประเทศเองก็มีรสชาตที่คล้ายๆ กับในประเทศไทยด้วย
– บริการ ก็เป็นที่น่าประทับใจทุกสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ (ผมได้ลองเข้ามาทั้ง อเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น อินเดีย หรือแม้กระทั้งจีน) พนักงานให้ต้อนรับ ตอบคำถาม แนะนำ ในลักษณะที่เป็นมิตรและครบถ้วนดีมาก
ทีนี้ ลองถามตัวเองสิครับว่า Starbucks เค้าใช้กลยุทธ์ การลดราคา หั่นราคา เพื่อดึงดูดใจลูกค้าเท่านั้นหรือเปล่า … สำหรับผม ผมตอบว่าไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ Starbucks ทำ คือ ประสบการณ์ (Experience) ที่มีมาตรฐาน และน่าประทับใจ จนลูกค้ามองข้ามเรื่องราคาไป ทุกคนดื่ม กิน เพราะมันเป็น Starbucks
ผมต้องขอขอบคุณหมอมด ที่ได้เขียนบทความดีๆ มาให้พวกเราได้อ่าน ผมในฐานะที่เป็นผู้บริหารคลินิกทันตกรรม และอีก 2 ธุรกิจที่บริหารอยูj ก็พยายามที่จะใช้กลยุทธ์ ลด แลก แจก แถม ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะสิ่งที่เราต้องการจากลูกค้า หรือคนไข้ของเราคือ Royalty หรือความจงรักภักดี ต่อธุรกิจของเรา ไม่ใช่ก้าวเข้ามาเพราะของเราถูกกว่าคู่แข่ง
Value ในตัวเรา มีมากกว่าแค่คำว่า ราคา ครับ … เราต้องมาเริ่มหาจุดขายอื่นๆ เพื่อทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืน (Sustainable) กันเถอะครับ
ขอบพระคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนครับ ยินดีอย่างยิ่งครับ