ที่มาที่ไปของ 50/50

Posted on

คุณสงสัยไหมครับ ว่าธรรมเนียมการแบ่งค่าทำฟันให้คลินิก 50%  และมือปืน 50% มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

 

หลายคนยังสงสัยในแง่มุมอื่นๆ ด้วย

 

เช่น

 

ทำไมต้อง 50/50  ?

60/40 หรือ 30/70 ไม่ได้ หรือไร   ?

และผมเชื่อว่าเจ้าของคลินิกก็สงสัย

ว่าเป็นไปได้ไหมว่าจะลดส่วนแบ่งจาก 50 เหลือแค่ 40 ได้หรือไม่ ?

ใครเป็นคนคิด ?

 

ผมก็สงสัยเหมือนกัน แต่ผมก็เกิดไม่ทันนะ ผมยังเด็ก 555

เลข ท.ของผม ก็เพียง 9000 ต้นๆ จบมาแค่สิบกว่าปี  เนื้อหาในบทความนี้หลายส่วนผมอาศัยการถามเก็บข้อมูลจากคุณหมอผู้ใหญ่และอาจารย์หลายๆท่าน โดยเฉพาะท่านอาจารย์ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธุ์  ผมเอาเนื้อหาความรู้ต่างๆมาร้อยเรียงอีกที และโชคดีที่ผมมีประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับหลายองค์กร ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งรัฐและเอกชน ทั้งในและนอกววงการ จึงพอที่จะปะติดปะต่อออกมาเป็นภาพได้

ผมจึงอยากยกเครดิตแก่คุณหมอรุ่นพี่ และผู้ใหญ่ในวงการทันตกรรมหลายๆท่าน

……………….

 

คุณเชื่อไหม ว่าการแบ่งค่าทำฟันระหว่างคลินิกและมือปืน ในอัตราส่วน 50/50 เกิดจากความสัมพันธ์

 

อย่าเพิ่งส่ายหน้า หรือ แหวะนะครับ ผมมีคำอธิบายที่ดีมากๆ ว่าทำไมถึงเกิดจากความสัมพันธ์ และผมมั่นใจว่าคุณก็จะเห็นเป็นภาพเดียวกันกับผม

ลำดับเรื่องราวที่ผมจะเล่า ผมจะขอเกริ่นย้อนอดีตกันสักหน่อยตั้งแต่เราเริ่มมีคุณทันตแพทย์แห่งแรก เส้นทางการประกอบอาชีพของคุณหมอ และความสัมพันธ์ของเจ้าของคลินิก/มือปืน

 

ยุคที่ยังไม่มีการบังคับใช้ทุน (พ.ศ. 2492-2525)

ขอเกริ่นเล่าถึงวงการแพทย์นิดนึง

ยุคแรกๆ นักเรียนแพทย์ยังไม่มีการให้เซนต์สัญญาเพื่อใช้ทุน แพทย์ที่จบจึงมีอิสระในการเลือกที่ทำงาน ทางภาครัฐก็คาดหวังว่าหมอๆที่จบจะช่วยกันกระจายตัวอยู่เพื่อดูแลรักษาคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา

แต่ที่สิ่งเกิดไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประเทศชาติ

แพทย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2508)  เลือกที่ไปเป็นแพทย์ที่อเมริกาเกือบทั้งรุ่น

ทำให้ภาครัฐต้องมีนโยบายให้ทำหนังสือคู่สัญญากับนักเรียนแพทย์ จึงเป็นที่มาของการใช้ทุน ซึ่งเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2511 ท่ามกลางความไม่พอใจของนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น

ส่วนของทันตแพทย์ เริ่มให้มีการทำคู่สัญญา คือ พ.ศ.2526

เพราะฉะนั้น หมอฟันที่จบก่อน พ.ศ.2526 จึงไม่ถูกบังคับให้ทำงานในหน่วยงานรัฐตามคู่สัญญาเช่นในปัจจุบัน

ประเทศเราเริ่มมีทันตแพทย์ที่จบจากรั้วมหาลัยกลุ่มแรกจากจุฬาฯ ซึ่งคณะฯได้ก่อตั้งปีใน พ.ศ.2486 โดยมี ศาสตราจารย์ พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรก

ถ้าไล่ลำดับเริ่มจาก จุฬาฯ (พ.ศ.2486) ถัดมาก็คือ มหิดล (พศ. 2511) และเชียงใหม่ (พ.ศ.2515)  ยุคนั้นยังเป็นยุคที่ติดต่อกันด้วยการเขียนจดหมาย โทรเลข การใช้โทรศัพท์ยังจำกัด (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยขึ้น เกิดเมื่อ  พ.ศ.2497 )ส่วนอินเตอร์เน็ต และมือถือยังไม่ต้องพูดถึง

จะเห็นได้ว่ายุคนั้น ทันตแพทย์ทั้งวงการยังมีไม่เยอะ มีหลักร้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นคุณทันตแพทย์จบจากจุฬาฯ จำนวนนักเรียนทันตแพทย์ในรุ่นก็ไม่ได้เยอะ สิ่งที่น่าสนใจได้แก่

  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสถาบัน สูงมาก
  • อาจารย์-นักเรียน   หรือ นักเรียน – นักเรียน จะสนิทและรู้จักกันหมด
  • รวมถึงรุ่นพี่-รุ่นน้องด้วย

 

ความแน่นแฟ้นตรงนี้เอง ที่เป็นจุดเด่นทำให้ทันตแพทย์รุ่นเก่าๆมีความสนิทสนมชิดเชื้อกันสูง รู้จักและสนิททั้งรุ่น ต่างจากปัจจุบันที่เรียนหนังสือด้วยกันถึงปี 6 แล้วบางคนแทบจะไม่เคยคุยด้วยเลยสักครั้ง เลิกเรียนก็กลับบ้านกลับคอนโดฯของใครของมัน

และเนื่องจากคุณหมอยุคก่อน พ.ศ.2526 ไม่มีภาระผูกพันธ์ที่ต้องใช้ทุน จึงเป็นอิสระในการเลือกที่ทำงาน เช่น สมัครเข้ารับราชการ บางส่วนก็ทำงานเป็นทันตแพทย์เอกชน (เปิดคลินิกส่วนตัว) หรือบางคนอาจจะไม่ได้ทำฟัน แต่ไปประกอบอาชีพอื่นไปเลย

ผมว่าหมอฟันรุ่นใหม่อาจจะนึกไม่ออกว่ายุค พ.ศ. 2492-2526 หน้าตาเป็นยังไง ก็ให้นึกถึงวงดิอิมพอสสิเบิ้ลก็ได้ครับ

Th-001

 

ที่นี้ เกี่ยวข้องอะไรกับ 50/50 ละ ?

คลินิกทันตกรรมเอกชนในยุค (พ.ศ. 2492-2525)

คลินิกทันตกรรมในยุคนั้นมักเป็น dental office ขนาดเล็ก โดยที่คุณหมอเจ้าของคลินิกเปิดคลินิกมาเพื่อเป็นที่ทำฟันของตัวเอง (Solo practitioner)  หมอยุคนั้นจะเก่งมากๆ เพราะตอนเรียนได้ทำเคสกันเยอะ

ผมเคยคุณกับคุณหมอ เทียนชัย ภัทรพรเจริญ ว่าสมัยท่านเรียนเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เขาได้ทำ Complete Denture กี่เคสก่อนจบ ?

แกบอก 12 เคส !

แกยังเล่าติดตลกว่า ตอนพิมพ์ปากพร้อมกัน พอพิมพ์เสร็จให้คนไข้กลับได้ ก็มานึกขึ้นได้ทีหลังว่าลืมทำสัญลักษณ์ไว้ ว่า arch ไหนเป็นเคสไหน…. ทำให้ปนกันมั่ว

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นนักเรียนรุ่นแรกที่ มช. เล่าให้ฟังว่าตอนเรียนทำครอบฟันไป 100 กว่าซี่ และเหวี่ยงเอง (casting) ทำแลปเองทั้งหมด คนไข้บางคนถอดสร้อยทองให้มาเหวี่ยงงานครอบ

มีเคสหนึ่งเหวี่ยงพลาก ตัวงานปลิวกระเด็นหาไม่เจอ ต้องลำบากขี่มอร์เตอร์ไซด์ไปร้านทองที่กาดหลวงเพื่อซื้อมาชดใช้ที่ทำงานหาย ><  (ปล.ใครงงว่าทำไมตอนเหวี่ยงมันกระเด็นได้ ลองดูใน yt อันนี้ครับ)

ส่วนพวกงานศัลย์ไม่ต้องพูดถึง น่าจะได้ทำกันโคตรเยอะ

ในความเห็นของผม คุณหมอสมัยก่อนจึงเก่งตั้งแต่เรียน เพราะได้ทำเคสเยอะ ทำเคสได้ทุกอย่าง ทุกแบบ จะเรียกว่าเป็น super GP ตั้งแต่จบมหาลัยเลยก็ไม่ผิด

จำนวนหมอฟันที่น้อยไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่มากมาย คนไข้จึงเยอะทั้งที่คณะ โรงพยาบาล และคลินิกเอกชน

………..

คลินิกเอกชน และการหางานของมือปืน

ลองนึกภาพตัวคุณเองเป็นทันตแพทย์ที่เพิ่งจบในยุคโน่น แล้วจะต้องหาคลินิกทำ (เป็นมือปืน) คุณจะหาที่ทำงานยังไง ?

ในยุคนั้นไม่มี work4dent นะครับ ……..

 

การที่หมอคนหนึ่งจะมีงานทำ ก็ไม่พ้นการ “ขอไปทำงานที่คลินิกรุ่นพี่” หรือ ของอาจารย์

หรือถ้าคลินิกอยากได้คนพอดีก็อาจจะเป็น “พี่ชวนไปทำงาน” สิ่งที่เกิดจึงเป็นภาพน่ารักๆของการที่มือปืน”ไปช่วยพี่ทำงาน”   หรือเจ้าของร้าน “เรียกน้องมาช่วยเฝ้าคลินิก”  หรือ อาจมีการถามต่อๆกันมาเพื่อแนะนำคนมาร่วมงาน เพราะฉะนั้นจึงมีสายสัมพันธ์ยึดอยู่เสมอ

 

ความสัมพันธ์แบบพี่ๆน้องๆ

ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นสายสัมพันธ์ที่ดี ที่บ่มมานานจากมหาลัยจากกิจกรรมและการเรียนที่ทำร่วมกัน

ซึ่งตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่ส่วนใหญ่การร่วมงานของมือปืนและคลินิกมักเป็น “คนแปลกหน้า” ที่ต่างคนไม่รู้จักกันมาก่อนเลย โดยมี work4dent เป็นจุดเชื่อม

 

ภาพลักษณ์สมัยก่อน จึงเป็นไปแบบน้องมาช่วยพี่(ทำคนไข้)  และพี่ก็มีเมตตากับน้อง (ให้มาร่วมงานด้วยกัน) ไม่ได้เป็นลักษณะนายจ้างกับลูกจ้าง ความเป็นไปแบบพี่ๆน้องๆ ทำให้การร่วมงานกันก็ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเท่าไหร่ จึงไม่มีเวลาเข้าออกงานที่แน่นอน ไม่มีสัญญาจ้าง เจ้าของคลินิกมองน้องมือปืนเป็นหมอคนหนึ่งเหมือนตนเองที่มีน้ำใจมาช่วยทำงาน ส่วนมือปืนก็มองพี่เป็นผู้มีพระคุณ เป็นพี่ที่เคารพรัก

 

แล้วทำไมต้อง 50/50 ?

 

เพราะคลินิกทำฟันในยุคนั้น เจ้าของคลินิกส่วนใหญ่ไม่ได้คิดในเชิงธุรกิจอะไรมากมาย การแบ่งรายได้ก็เลยไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน

คิดกันง่ายๆแบบ วัดครึ่งนึง-กรรมการครึ่งนึง

“ค่าทำฟันเท่าไหร่ ก็แบ่งกันคนละครึ่ง ต้นทุนพวกวัสดุสิ้นเปลืองพี่รับผิดชอบเอง แต่ถ้ามีค่าแลปก็ช่วยกันจ่าย”

คิดกันง่ายๆ แบบนี้…เท่านั้นเอง

เพราะมือปืน คือน้องนุ่ง หรือ คนที่รู้จักกันนั่นเอง

…………

 

เพราะมือปืน ไม่ใช่คนไม่รู้จักที่มาจาก work4dent

 

คุณหมอผู้ใหญ่เจ้าของคลินิกที่ผมสนิทท่านหนึ่งเล่าว่า

“คนไข้ที่หมอมือปืนมาช่วยทำฟัน ยังไงก็เป็นเงินที่เจ้าของร้านทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะคนเรามีสองมือ จะทำฟันอะไรได้เพิ่มนักหนา  ในเมื่อเวลาและพลังของเรามีแค่นี้ (มีจำกัด) แค่มีหมอมาช่วยทำฟันพี่ก็ดีใจแล้ว จะได้เบาแรงลงบ้างและคนไข้จะได้ไม่ต้องรอนาน”

การที่ “ไม่ได้คิดอะไรมาก” เป็นเพราะมีความสัมพันธ์เชิงพี่น้องเป็นสาเหตุ และให้น้ำหนักสิ่งนี้มากกว่าเรื่องผลตอบแทนที่เป็นเงิน

เนื่องด้วยเจ้าของคลินิกในยุคนั้นไม่ได้คิดเชิงธุรกิจ หรือ Business จ๋า แบบคุณหมอเจ้าของคลินิกหลายๆคนในยุคนี้ ความคุ้มหรือไม่คุ้มจึงไม่ใช่ประเด็นแรกๆ ที่คำนึงถึง

เพราะสำหรับเจ้าของคลินิกส่วนใหญ่ เขามีมุมมองว่าคลินิกเป็นที่ทำงาน เป็นที่ซึ่งเขาจะทำฟันให้คนไข้ ก็เท่านั้น

รูปแบบการเปิดคลินิกแบบนี้เรียกว่า Solo practitioner คือ เป็นการเปิดคลินิกเพื่อเป็นที่ทำงานของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่ว่าทำไมชื่อคลินิกจึงนิยมใช้ชื่อตัวเอง หรือ ชื่อเมีย  (Ref : ทพ.อภิชาติ ลีานุรักษ์)

และเจ้าของคลินิกก็ไม่ได้กะรวยจากการมีมือปืนในคลินิกจำนวนเป็นสิบ เป็นร้อยคน เพราะเจ้าของก็มีรายได้หลักจากการที่เขาลงมือทำฟันทุกวันอยู่แล้ว และคุณหมอยุคนั้นจะเอาเงินเก็บไปลงทุนในสินทรัพย์มากกว่า เช่น ซื้อที่ ซื้อทอง เล่นหุ้น และไม่ค่อยมีแนวคิดที่เน้นการขยายคลินิก หรือ มีสาขาจำนวนมากๆ สร้างแบรนด์ หรือสร้างเพื่อจะขายคลินิกในตลาดหุ้นแบบคุณหมอยุคปัจจุบันใฝ่ฝันที่จะทำ

 

 

จะเห็นได้ว่า 50/50 จึงไม่ใช่ deal ทางธุรกิจ แต่เป็นสายสัมพันธ์ เป็นการให้เกียรติ หรือจะเรียกว่าความรักก็ไม่ผิด เจ้าของคลินิกก็ให้ 50/50 เพราะมองว่ารุ่นน้องอีกฝั่งก็มีศักดิ์เสมอตน และอยากให้ในอัตราที่อีกฝ่ายก็รู้สึกเท่าเทียม หรือ คุ้ม

 

เจ้าของคลินิกจะมองหมอมือปืนเป็น “น้องคนหนึ่ง”  ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่หลายกรณีเป็น “คนแปลกหน้าจาก work4dent” ความสัมพันธ์ที่มีทำให้เกิดธรรมเนียมของค่าแรง 50/50 แบบจนถึงบัดนี้

 

………

นอกจาก 50/50 แล้วมีการแบ่งค่าแรงแบบอื่นไหม ?

จากที่ผมได้ยินมา  50/50  ก็ใช่ว่าจะเป็นส่วนแบ่งที่ถูกใจคุณหมอทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเจ้าของคลินิกที่ดำเนินกิจการเป็นธุรกิจเต็มตัวเต็มรูปแบบ

คุณหมอแนวนักธุรกิจหลายๆคน ให้ความเห็นว่าระบบ 50/50 จะทำให้คลินิกอยู่ไม่ได้ในระยะยาว  เพราะในทางการเงินคลินิกจะเสียเปรียบและคุมรายจ่ายยากจากการแบ่งระบบเปอร์เซนต์(50/50) และถ้าบริหารไม่เก่งอาจจริงถึงขั้นขาดทุนได้ พร้อมกับออกปากว่าอยากสนับสนุนให้เกิดการคิดค่าแรงแบบ Fix Dental fee (Fix DF) และ เลิกอิงกับระบบ50/50 ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน

…….

 

บทส่งท้าย

 

50/50 กำเนิดมาจากความสัมพันธ์แบบญาติมิตรหรือพ่อลูกพี่น้อง ( Paternalistic ) ไม่ได้มาจากความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ (Commercialistic) การจะเป็น 50/50 หรือ 40/60 จึงขึ้นกับวิวัฒนาการของสังคมวัฒนธรรม (Ref:อ.ทพ.ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธุ์)

ความสัมพันธ์ระหว่าง เจ้าของคลินิก-มือปืนในอดีตเป็นความสัมพันธ์แบบญาติมิตรหรือพ่อลูกพี่น้อง ( Paternalistic ) แต่ในในปัจจุบันอาจพบความสัมพันธ์ในแบบอื่นร่วมด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของคลินิกและมือปืนไม่ได้มีแบบเดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดการแบ่งค่าแรงที่แตกต่างกันออกไป

แต่ทั้งนี้อัตราส่วน 50/50 ก็ยังคงเป็นธรรมเนียมที่ยังใช้กันเป็นหลักในทางสังคมทันตแพทย์เอกชนถึงทุกวันนี้

 

 

 

 

  • Share

1 Comments

  1. Tamonwan Ngamcharat says:

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนะคะ

Leave a comment

Your email address will not be published.