ทิศทาง ทางออก และ โอกาส ของคลินิกทันตกรรมเอกชน ในยุค COVID-19 (ตอนที่ 2)

Posted on

เนื้อหาของตอนที่ 2 ผมจะมาคุยให้ฟังว่า

  1. Phase 2 คืออะไร มีผลกระทบอย่างไร ?
  2. คลินิกทันตกรรมจะเริ่ม Reopen ได้หรือยัง และจะ Reopen ในรูปแบบไหน ?
  3. เราควรต้องโฟกัส และระวังสิ่งใดบ้าง ? ในบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว

 

สงสัยไหมครับ ว่าถ้าสมมุติประเทศไทย

แช่อยู่ใน Phase 1 นานๆจะเกิดผลเสียอะไรบ้าง ?

 

**ใครยังไม่รู้จัก Phase 1 แนะนำให้อ่านตอนที่ 1 นะครับ (ลิ้ง)

ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังเป็นหลักร้อยถึงพันและไม่มีท่าทีที่จะลดลง เราจะเจอเหตุการณ์หลักๆ 3 อย่าง

st_20200321_vnutaly_55403832

  1. หมอรักษาไม่ไหว – ถ้าบังเอิญว่าเราควบคุมการแพร่ของเชื้อได้ดีและมีผู้ติดเชื้อมีจำนวนน้อย และคนป่วยเข้าถึงการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงโอกาสเสียชีวิตจะต่ำ แต่กลับกันถ้าผู้ป่วยมาพร้อมกันทีหลายร้อยถึงพันคนโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์จะให้บริการไม่ทัน โดยเฉพาะทรัพยากร….ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ยา เครื่องมือแพทย์จะขาดแคลนไปเลย (ลิ้งข่าว : Health officials warn US government does not have enough stockpiled medical equipment to deal with coronavirus)
    และจะเกิดเหตุการณ์ที่ต้อง “ปล่อยผู้ป่วยตาย” ในคนไข้ที่ severe มากๆโดยเฉพาะผู้สูงอายุ  เช่น ที่ อิหร่าน และ อิตาลี (ลิ้งข่าว BBC : ‘It’s not enough’: Inside an Italy hospital struggling to contain COVID-19)
  2. เศษรฐกิจจะแย่ลงเรื่อยๆ และธุรกิจขนาดกลาง/เล็ก เริ่มล้มละลาย – เพราะ Phase 1 มาตรการต่างๆจะเข้มงวดมาก ร้านค้า ร้านอาหารถูกบังคับให้ต้องปิด หรือ จำกัดการค้าขาย โรงงาน และธุรกิจรวมถึงสถานบริการต่างๆเช่นกัน  ส่วนที่จะเจ๊งก่อนคือธุรกิจขนาดเล็ก (SME) เพราะธุรกิจขนาดเล็กเงินทุนไม่เยอะ อาศัยเงินหมุนเวียนเพื่อความอยู่รอด และเข้าถึงเงินกู้เงินทุนได้ไม่สะดวกเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ มีข้อมูลว่าถ้าต้องอยู่ใน Phase 1 ยาวๆ แบบไม่มีรายได้ 14% ของธุรกิจขนาดเล็กจะล้มใน 1 เดือน และ 50% จะล้มละลายภายใน 3 เดือน  (ลิ้งบทความ : COVID-19’s impact on China’s small and medium-sized businesses) และที่สำคัญ Supply Chain จะขาดทำให้เกิดปัญหาไปทั่ว (ลิ้งข่าว : ต่างชาติเตือนไวรัสโควิด19 กำลังทำลายห่วงโซ่การผลิตอาเซียน )
  3. ประชาชนเริ่มประท้วง – จากข้อ 2 ประชาชนที่ไม่มีรายได้ จะอยู่ได้ไม่นาน ยิ่งถ้าภาครัฐไม่สามารถชดเชยหรือเยียวยาได้ทั่วถึงคนจะเริ่มประท้วงเพื่อปากท้องของตัวเอง แม้แต่ที่จีนเองก็เจอปัญหานี้เพราะมาตรการ lock down ที่ยาวนานและไม่มีสวัสดิการที่เหมาะสมมารองรับ  (ลิ้งข่าว : Workers’ Activism Rises as China’s Economy Slows. Xi Aims to Rein Them In.)

มาตราการเยียวยา  “เราไม่ทิ้งกัน” ของประเทศไทยที่ให้ 5,000 บาทถือว่ามาถูกทางแต่กระบวนการแจกจ่ายให้อย่างทั่วถึงและยุติธรรมยังทำได้ไม่ดี (ลิ้งข่าว : ‘เราไม่ทิ้งกัน’ แจกเงิน 5,000 ‘ทิ้งใครไปบ้าง’ รวมคำถามจากคนที่ ‘ตกหล่น’ จากระบบ)

จำได้ใช่ไหมครับ ว่างานหลักของ Phase 1 คือการควบคุมคน ถ้าคนเริ่มประท้วง เริ่มไม่ยอมทำตามกฎข้อบังคับสถานการณ์ใน Phase 1 จะแย่ลงเรื่อยๆ และห่างไกลจากการเข้าสู่ Phase 2

ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้ (19 เมษายน) ที่อเมริกาจะพบว่าบางรัฐ เช่น Texas และ Maryland เริ่มมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยุติการ Shutdown และให้ผ่อนปรนมาตรการเข้มงวด พร้อมกับเรียกร้องให้ตนเองกลับไปทำงานตามปกติ (ข่าว :Protesters in Texas, other states demand end to lockdowns day after Trump’s ‘LIBERATE’ tweets )

จึงอธิบายได้ว่าอเมริกายังวุ่นวายกับ Phase 1 อยู่เลย และคงยากที่จะเดินหน้าสู่ Phase 2

แต่การรีบร้อนเข้า Phase 2 ทั้งที่ยังคุมโรคไม่ได้ดีพอ จะอันตรายมาก เพราะหมอรักษาไม่ไหวแน่นอน และคนจะตายหลายหมื่นถึงแสน

ไม่มีใครชอบนโยบาย Shutdown ใน Phase 1 หรอก

รัฐบาลก็ไม่ชอบ

เพราะยิ่ง Shutdown หรือ แช่ใน Phase 1 นานแค่ไหน เศรษฐกิจก็มีแต่จะแย่ลงไปเท่านั้น รัฐบาลเองก็กังวลว่าจะทำยังไงที่จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งนับเป็นเงินจำนวนหลายล้านและจะพบปัญหาอีกสารพัด เช่น จะทำยังไงให้ช่วยเหลือได้ทั่วถึงโดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบหนักๆ

**เพราะฉะนั้นการผลักดันให้ประเทศไทยรีบผ่านไป Phase 2 จึงมีนัยยะทั้งทางระบาดวิทยา ทางสาธารณสุข และทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกันอย่างแยกไม่ออก

 

คุณหมอลองคิดจินตนาการดูนะครับ ว่าถ้า Phase 1 มันยาวนาน

คุณหมอจะอยู่ยังไง(เอาอะไรกิน) ?

  • ถ้าคุณเป็นเจ้าของคลินิก คุณก็จะต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้องและค่าเช่าตึกไปเรื่อยๆจนกว่าจะเปิดกิจการได้ตามปกติ แล้วคิดไหมครับ ว่าคุณมีศักยภาพที่จะจ่ายทิ้งแบบนั้นนานกี่เดือน ? 3 เดือน ? 6 เดือน ? หรือนานกว่านั้น ?
  • ถ้าคุณเป็นมือปืน แล้วไม่สามารถทำคลินิกเลย คุณก็ต้องเอาเงินเก็บสะสมมาใช้ ถ้าคุณกำลังมีหนี้สินอยู่เช่น ผ่อนคอนโด รถยนต์ และต้องดูแลคนที่บ้านเพราะคุณเป็นเสาหลักของครอบครัว ทั้งค่าเทอม  เงินเก็บในกระเป๋าคุณรองรับได้นานกี่เดือน ?

ประเทศไทยและหลายๆประเทศในเอเชียถือว่าค่อนข้างโชคดีที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตไม่สูงเหมือนประเทศทางยุโรป (แม้จะมีความสงสัยว่าตัวเลขเราน้อยกว่าความเป็นจริงก็ตาม) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะขยับเข้ามา Phase 2 ได้เร็วกว่าฝรั่งเขา

พูดง่ายๆ คือประเทศเรามีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าทางยุโรปและอเมริกา **ถ้าไม่ซวยวกกลับไป Phase 1 อีกรอบนะ

เพราะอย่างสิงค์โปรที่แรกๆเหมือนจะคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดี ตอนนี้ก็มีปัญหาคุมไม่ได้และจำนวนผู้ติดเชื้อเกิดใหม่สูงกว่าวันละ 1,000 คน (ลิ้งข่าว 1,426 new COVID-19 cases in Singapore, mostly foreign workers in dormitories) สำหรับประเทศไทยจริงๆแล้วมีโอกาสตัวเลขพุ่งได้เหมือนสิงค์โปร เพราะเราก็มีแหล่งชุมชนแออัดและแคมป์คนงานก่อสร้าง

กลับมาคุยกันต่อ

แล้ว Phase 2 มันเป็นยังไง ?

 

Phase 2 มีชื่อว่า Reopen หรือ กลับมาเปิดใหม่ (แทน…แท๊น)

เป็นการผ่อนปรนมาตรการต่างๆที่เข้มงวดเพื่อให้ทุกคนเริ่มมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

เช่น เริ่มให้นั่งทานอาหารในร้านอาหารได้ ยกเลิกเคอร์ฟิวกลางคืน พนักงานสามารถกลับไปทำงานที่บริษัทได้ตามปกติ เด็กๆกลับไปเรียนที่โรงเรียน

ลักษณะนี้จะทำให้กิจกรรมทางสังคมเรากลับมาเหมือนเดิม

อ่าว … แล้วปล่อยให้ออกมาใช้ชีวิตกันปกติแบบนี้ จะไม่เสี่ยงต่อการเกิดการระบาดอีกรอบหรือ ??

แม้ว่าใน Phase 2 จะผ่อนปรนให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้มากขึ้น แต่ต้องอยู่บนมาตรฐานใหม่ หรือฝรั่งเรียก new normal เพราะเราไม่ต้องการกลับไป Phase 1 อีกแล้วไงครับ เพราะต้นทุนการอยู่ Phase 1 มันแพงมาก 

Reopen in a new normal

เรากลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมบนบริบทใหม่

 

จะมีเงื่อนไขและข้อปฎิบัติให้ทำตามหลายอย่าง ที่ต้องปฎิบัติให้เป็น normal เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น

  • ยังคงมาตรการ Social Distance เราพบข้อปฎิบัติ เช่น ร้านอาหารห้ามนั่งสุ่มหัวกันหลายคน ที่นั่งรอลูกค้าต้องนั่งห่างๆกัน
  • ในสถานที่แออัดลมไม่ระบาย จะต้องเปิดหน้าต่างบ้าง Open air บ้าง หรือ อาจต้องใช้เครื่องฟอกอากาศ
  • จุดสัมผัสต่างๆจะต้องมีการเช็ดฆ่าเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำ โซฟาเก้าอี้
  • Work at Home ก็ยังคงแนะนำให้ทำอยู่ แต่ไม่ 100% อาจลดวันที่ต้องไปที่ทำงานลง หรือ ไปแบบสลับกันเพื่อไม่ให้ที่ทำงานแออัด มีแนวโน้มที่แต่ละบริษัทจะลดวันการมาออฟฟิส ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆสำหรับพนักงานบริษัท
  • การเดินทางข้ามจังหวัด หรือ เดินทางไปไหน จะต้องถูกพิจารณาทั้งต้นทางปลายทาง และอาจถูกจำกัดการเข้าออก
  • ผู้สูงอายุ (60 ปี+) จะยังต้องอยู่บ้านต่อไป ไม่แนะนำให้ออกบ้านเพราะเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด

 

ทั้งนี้การ Reopen ไม่ได้เป็นมาตรการที่ทำทีเดียวพร้อมกันทุกจังหวัด หรือ ทุกแห่งหนนะครับ

การ Reopen จะพิจารณาเป็นย่านๆไป เป็นจังหวัดๆไป ถ้าที่ไหนดูแล้วยังคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ไม่ดี ก็อาจจะต้องคงอยู่ใน Phase 1  ยกตัวอย่าง

เช่น ภูเก็ตยังพบผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 3-5 คน กรมควบคุมโรคอาจจะแนะนำให้ภูเก็ตอยู่ Phase 1 ไปก่อน  แต่จังหวัดที่ติดกัน เช่น พังงา ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่แล้ว ก็อยู่ Phase 2  ได้

แต่ถ้าประชาชนที่อยู่ภูเก็ตต้องการมาพังงา อาจจะมีการตรวจละเอียด หรือ ถึงขั้นห้ามเข้าจังหวัดเลยทีเดียว แต่ถ้าคนพังงาจะไปภูเก็ตก็อาจจะเข้าได้เลย เพราะมาจากจังหวัด Phase 2 แต่พอจะกลับเข้าพังงา เขาจะให้เข้าจังหวัดไหมนั่นอีกเรื่องนะครับ  ก็แล้วแต่มาตรการของจังหวัดใครจังหวัดมัน ณ เวลานั้น

เพราะฉะนั้นการพิจารณาจะดูเป็นโซนๆไป

 

Phase 2 เป็น Phase แห่งการจับตา

d09cb541058dd352d1e9228cdb81c8a5

 

จับตาอะไร ?

จุดมุ่งหมายของ Phase 2 คือ ประคองทุกอย่างให้ไม่กลับไป Phase 1

เพราะฉะนั้นหน่วยงานรัฐจะต้องตรวจสอบและจับตาทั้งพฤติกรรมคน ตัวเลข สถิติ และหลายๆอย่างแบบใกล้ชิดมากๆ และแผนการควบคุมโรคจะต้องเร็วและทันการ และต้องยอมกลับมา Phase 1 ได้ทันทีที่สถานการณ์ชักไม่ค่อยดี

เช่น เมื่อเปิดโรงเรียนแล้วให้เด็กๆกลับไปเรียนได้ตามปกติ แต่เริ่มพบมีการติดเชื้อเคสใหม่ๆในเด็กที่ไปโรงเรียน หน่วยงานรัฐก็ต้องรีบ Action เพื่อหยุดการแพร่ของโรคโดยเร็ว จะมารอดูๆไปก่อนหรือมานั่งเสี่ยงดวงไม่ได้ ถ้าจะต้องกลับสู่ Phase 1 อีกครั้งก็ต้องยอม

ส่วนคนที่ป่วยใหม่ และหายป่วยแล้วก็จะต้องมีการจับตาและตรวจเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

บางจังหวัด เช่น ชลบุรี ก็เริ่มมีข่าววางแผนจะเข้า Phase 2  ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้แล้ว (ลิ้งข่าว ‘ชลบุรี’เตรียมเฮ!ผู้ว่าฯผ่อนปรน สถานประกอบการเริ่ม 1 พ.ค.นี้) แต่ก็ไม่พ้นการจับตาอย่างใกล้ชิดอยู่ดี

ใน Phase 2 ธุรกิจทุกอย่าง ต้องคิดถึง new normal

และต้องปรับตัวเองให้ทันกับ new normal

 bje85gci5jkhf5a5bbjd7

ประชาชนเองก็จะต้องเข้าใจและยอมรับ new normal หลายๆกิจกรรมอาจจะต้องงดไปพักใหญ่ เช่น การไปเที่ยวยุโรป (หรือคุณกล้าไป ?) งานคอนเสริ์ต ดิสโกเทค ผับบาร์ ก็มีคนพูดถึงว่าอาจจะเป็นกิจกรรมที่แทบจะงดไปเลย

ลองคิดดูว่าถ้าจัดคอนเสริ์ต แล้วต้องทำ Social Distance คนต้องห่างกัน 1 เมตร ผมก็ไม่รู้คนจัดคอนเสริ์ตจะขายตั๋วจะคุ้มไหม

ผมยังคิดเล่นๆ ว่า สายการบินอาจจะมีตั๋วที่นั่งพิเศษ ตั้งชื่อว่า COVID-19 safty seat โดยมีชุด Full PPE ให้ใส่ก่อนเข้าสนามบิน มีอุปกรณ์หรือ Hood มาครอบที่นั่งเราให้ isolate จากทุกคนบนเครื่องและมีถัง Oxigen ของตัวเองต่อเข้ากับหน้ากากหายใจโดย ไม่ต้องไปหายใจปนเปื้อนกับใครให้ลำบากใจ ในราคาตั๋วที่เทียบเท่า Business class เป็นต้น

อย่างผมและภรรยาก็รอดูว่าโรงเรียนของลูกชายผม (ลูกผมอายุ 5 ขวบ) จะมีมาตรการใหม่อะไรบ้าง

เพราะที่ผ่านมาลูกชายผมก็มักจะเป็นหวัดและติดไวรัสโน่นนั่นนี่แทบทุกเดือนเวลาไปโรงเรียนอยู่แล้ว ส่วนเจ้า COVID-19 นี่ก็ติดต่อง่ายเสียเหลือเกิน คิดแล้วก็เป็นเรื่องที่ท้าทายภูมิปัญญาของผู้บริหารโรงเรียนไม่ใช่น้อยที่จะทำยังไงไม่ให้เกิดการ spread ของเชื้อ

และถ้าเขาไม่มีมาตรฐานอะไรใหม่ ผมมั่นใจว่าผู้ปกครองหลายคนพาลูกย้ายโรงเรียนแน่นอน หรืออาจจะต้องยอมเป็นครูเสียเองแล้วสอนแบบ Home school

ตอนนี้ผมของผมเริ่มยาวแล้ว และอยากจะตัด….แต่ผมก็ไม่รู้ว่าร้านตัดผมเขามีอะไร new พอให้ผมมั่นใจแค่ไหน

ทุกธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวให้ล้อไปกับ New Normal ใหม่

แล้วคลินิกทันตกรรมละ ?

Phase 2 คลินิกทันตกรรม ก็จะ Reopen

และทำฟันแบบ Normal แบบ New Normal

 

ใน Phase 2 ตามหลักคลินิกทันตกรรมจะได้รับอนุญาตให้เปิดให้บริการได้ตามปกติ และก็เพิ่งมีข่าวส่งสัญญาณมาแบบนั้นจริงๆ (ลิ้งข่าว : สธ.เล็งคลายล็อกดาวน์เปิดห้องผ่าตัด-คลินิกทำฟันต้นพ.ค.นี้)

แต่เนื่องจากเรามี COVID-19 ที่ต้องจับตา และ 60% ของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากๆจนตรวจไม่พบ (Reference : Covert coronavirus infections could be seeding new outbreaks) คลินิกทันตกรรมเองก็จะต้องมีโจทย์ใหม่มาท้าทาย

ย้อนไปสมัยก่อน ในยุคที่ HIV ระบาดวงการทันตกรรมเราก็ต้องปรับตัวหลายอย่างและเป็น new normal จนถึงทุกวันนี้ เช่น การใส่ถุงมือเพื่อทำฟัน การใช้ Autoclave ในการฆ่าเชื้อกับอุปกรณ์ทุกอย่าง และด้วย Standard ใหม่นี้เราจึงกล้าพูดกับคนไข้เต็มปากว่า “คุณจะไม่ติด HIV แน่นอนถ้าคุณมาทำฟัน”

วันนี้ สำหรับโรคระบาดที่ชื่อ COVID-19 เราก็ต้องทำให้ได้เหมือนกัน ในแบบที่เราข้ามผ่านและทำ Standard ใหม่ในวันที่ HIV ระบาด

ถ้าจะให้ผมสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับ new normal ของวงการทันตกรรม ก็คือ

“หมอ พนักงาน และคนไข้ จะต้องไม่ติด COVID-19 จากการมาคลินิกทันตกรรม”

ว่าแต่คลินิกของคุณพร้อมแล้วหรือยัง ?

หรือคุณเป็นคลินิกสไตล์ “กล้าตาย” ที่ไม่มีระบบใดๆนอกจากเสื้อกันฝน ?

บางคนอาจจะคิด ว่ามันจำเป็นจะต้องถึงขั้นมี Standard ใหม่เลยหรือ ??

COVID-19 มันไม่เหมือน HIV นะ

ใช่ครับ COVID-19 ไม่ได้เหมือน HIV และ COVID-19 นี้เองก็เป็นโรคที่หายเองได้ตามธรรมชาติ โอกาสที่จะติดแล้วตายไม่สูง เราจะต้องซีเรียสกันขนาดต้องปรับเปลี่ยน Standard เลยหรือ ?

ตอนนี้เราล้วนทราบดีกว่า 50-60% ของคนติดเชื้อมีอาการน้อยมากๆ หรือ แทบไม่มีอาการเลย (Asymtomatic) และสามารถแพร่เชื้อได้ไม่ต่างจากคนที่มีอาการชัดเจนหรือกำลังโคม่าใน ICU

เพราะฉะนั้น ถ้า COVID-19 นี้ยังคงระบาดอยู่ (แม้จะมีคนป่วยใหม่น้อยมากๆก็ตาม) คลินิกคุณจึงมีโอกาสเสมอที่จะมีคนไข้ที่ป่วยเป็น COVID-19 หลุดเข้ามา (แม้จะมีการตรวจวัดไข้และซักประวัติก็ตาม)

ยกตัวอย่างถ้าเกิดคนไข้ท่านนั้นต้องอุดฟันและขูดหินปูนทั้งปาก ก็มีความน่ากังวลว่าจะมีการฟุ้งกระจายของเชื้อมายังหมอ และผู้ช่วย

และเชื้อที่ฟุ้งอยู่ในอากาศและพื้นผิวโดยรอบก็อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่คนไข้คนอื่นๆ ที่มาทำฟันต่อ หรือคนไข้ที่ทำฟันอยู่ห้องข้างๆ กัน

ในวันนั้นเราที่ติดเชื้อก็พาเชื้อกลับมาที่บ้าน นำมาฝากลูกฝากเมีย แล้วลูกเมียก็ฝากให้พ่อแม่ที่อยู่ที่บ้านอีกต่อ

ลูกก็พกไปโรงเรียนด้วยก็ติดอีกหลายต่อแบบเดียวกับที่เด็กชอบติดหวัดกันทียกห้องเรียน

จะเห็นได้ว่ามันติดต่อกันได้ง่ายในลักษณะนี้ และอาจจะมีบางคนที่มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต

ถ้าตัวอย่างที่ผมเล่ามาเกิดขึ้นจริงกับคลินิกเรา ผมคิดว่าทุกคนคงรู้สึกผิดและคิดว่า รู้งี้ป้องกันให้ดีตั้งแต่แรกเสียดีกว่า โชคดีที่ยังไม่มีรายงานเหตุการการแพร่เชื้อจากห้องทำฟันและ spread ไปในสังคมดังที่ผมยกตัวอย่าง

**แต่นักวิชาการและรายงานหลายแห่งก็ล้วนแนะนำเป็นทิศทางเดียวกันว่าคลินิกทันตกรรมต้องมี Standard ใหม่ (ลิ้ง Coronavirus Disease 19 (COVID-19): Implications for Clinical Dental Care)

คลินิกจะต้องมีมาตรการเพื่อรองรับเคสที่หลุดลอดเข้ามา และทุกคนจะต้องปลอดภัยจาก COVID-19

สิ่งนี้ผมถือว่าเป็นพันธะสัญญาที่เราต้องทำให้ได้ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพทันตแพทย์

 

แล้ว Standard ใหม่ใครคือคนกำหนด ?

แล้วเราจะมี Standard ใช้เมื่อไหร่ ?

แล้ว Standard เราคิดเองทำเองได้ไหม ?

ในวงการทันตกรรมผู้นำที่จะมา set standard นี้คือ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทันตแพทยสภา (ราชวิทยาลัย)

Screen Shot 2563-04-20 at 23.47.21

เราต้องอย่าลืมว่า COVID-19  เพิ่งอุบัติและแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เรายังเพิ่งรู้จักกับโรคนี้ ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับไวรัสถือว่าใหม่ทั้งสิ้น และยังมีอีกหลายอย่างที่เราเพิ่งรู้และไม่รู้เกี่ยวกับมัน

เพราะฉะนั้น การจะ set standard บนองค์ความรู้ที่ยังไม่นิ่งเกี่ยวเชื้อโรคถือว่าเป็นงานที่ท้าทายสำหรับเหล่าทีมอาจารย์ทันตแพทย์ทุกคน และคงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดก่อนที่จะประกาศให้ใช้เป็นมาตรฐานใหม่ร่วมกัน

Standard อาจจะออกมาในแบบชั่วคราวที่จะต้องอัพเดทเพิ่ม หรือแบบสมบูรณ์ทีเดียวจบ ต้องรอดูกัน

สำหรับ Standard ที่สามารถนำมาใช้ชั่วคราวก็มีข้องทันตแพทยสมาคมที่ประกาศในวันที่ 21 เมษายน (ลิ้ง) 

แล้วของจริงจะต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ ?

เท่าที่ผมทราบ ก็มีการประชุมและเตรียมการกันอยู่ตลอด ซึ่งถ้าคลอดออกมาได้เร็วย่อมเป็นผลดีต่อคลินิกทันตกรรมเอกชน เพราะจะได้ follow มาตรฐานใหม่อันนี้และสามารถเดินหน้าทำฟันได้อย่างมั่นใจ

แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรฐานใหม่ออกมาให้ follow ก็เป็นโจทย์ที่คลินิกจะต้องคิดว่า Standard หรือมาตรฐานใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถบริการคนไข้ได้อย่างน้อยในระดับหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายคือ หมอ พนักงาน และคนไข้ จะต้องไม่ติด COVID-19 จากการมาคลินิกทันตกรรม (เอาจริงๆควรจะเป็นทุกเชื้อโรคแหละ)

 6 Touchpoint ที่ต้องพัฒนา

เพื่อการ Reopen ใน Phase 2

ถ้าเรื่องระบบผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งนี้ถ้า List ตาม  Flow ของกระบวนการทำงานของคลินิกทันตกรรมในแง่ Touchpoint จากต้นถึงปลาย

  1. การนัดหมาย – ควรจะแจ้งคนไข้ถึงเงื่อนไขก่อนมาคลินิก เช่น ถ้ามีอาการไอแห้งและมีไข้ ก็ควรจะ cancle การนัดหมาย และถ้ามีความเสี่ยงอื่นใด เช่น ที่บ้านมีเคส PUI ก็ยังไม่ควรมาทำฟัน เป็นต้น
  2. การคัดกรองเมื่อมาคลินิก  – มีการซักประวัติและคัดกรองอย่างละเอียดเท่าที่ทำได้
  3. Social Distance – ยึดหลัก Social Distance เช่น ที่นั่งรอ จุดเวชระเบียน จุดชำระเงิน เป็นต้น
  4. ระบบระบายอากาศในคลินิก – เนื่องจาก COVID-19 สามารถลอยอยู่ในอากาศได้ผ่าน Airosol แถมอยู่ได้นานถึง 72 ชั่วโมง การระบายอากาศจึงเป็นสิ่งที่น่าเอามาพิจารณา
  5. การลดการฟุ้งกระจายในห้องทำฟัน – งานทางด้านทันตกรรมล้วนฟุ้งกระจายจากการใช้ Airotor , Triple syringe  ฯลฯ การควบคุม/ลดการฟุ้งกระจายมีหลายวิธี ผมอยากจะแนะนำให้ชม VDO ที่อาจารย์ธงชัยท่านได้ lecture ไว้ใน กลุ่ม Dental Online Course – สมทบทุนเพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์แพทย์ ถ้าคุณสนใจดูในโพสตามลิ้งนี้ได้เลยครับ ลิ้ง
  6. การกำจัดเชื้อโรค – เชื้อโรคคงไม่สามารถถูกกำจัดได้จากการใช้ไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วเช็ดแน่นอน คุณจะฆ่าเชื้อยังไง ด้วยอะไร แบบใดที่เหมาะสมที่สุด บางทีอาจจะเป็นนวัตกรรมที่วงการเรายังไม่ค่อยแพร่หลาย เช่น UV หรือ Plasma O3 เป็นต้น

ถ้าคลินิกคุณได้ลงรายละเอียดใน 6 Touchpoint นี้ โอกาสที่คนไข้จะติด COVID-19 น่าจะใกล้ศูนย์ และเราเองก็มีความมั่นใจว่าออกจากบ้านมาทำงานที่คลินิกและกลับบ้านไปอย่างปลอดภัยเช่นกัน

6 Touchpoint นี้คงช่วยให้คุณเอาไปวางแผนเพื่อจะ Reopening ได้พอสมควร และ Standard  ในอนาคตก็น่าจะมีทั้ง 6 หัวข้อนี้ ทั้งนี้ในรายละเอียดของแต่ละหัวข้อผมคิดว่าไม่ยากเกินไปที่คุณจะออกแบบหรือประยุกต์เพื่อให้เหมาะกับคลินิกของคุณ

ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะ set standard มาดีแค่ไหน หรือ พอใจแค่ไหน สุดท้ายเราล้วนจะต้องปรับอีกรอบเพื่อล้อไปกับ Standard ที่เป็นมาตรฐานหลักของวิชาชีพทันตแพทย์และกระทรวงสาธารณะสุขกำหนด จากนั้นเราก็จะไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาเชิงระบบและมาตรฐานอีกต่อไป

และคลินิกใดที่ไม่ปรับตัว และยังยืนยันจะอยู่แบบเดิม ก็อาจมีความผิดทั้งในเชิงจริยธรรม และทางกฎหมาย เพราะ Standard ใหม่ก็ไม่ต่างจากการมีกฎหมายใหม่ที่เราต้องปฎิบัติตาม

เพราะฉะนั้นตอนนี้ แม้ว่าเราจะยังไม่มี Standard ที่สมบูรณ์ที่เป็นมาตรฐานสากล แต่คุณก็จำเป็นจะต้องออกแบบให้ดีที่สุดเพื่อบริการคนไข้ไปก่อนและจำกัดการทำฟันไว้ตามศักยภาพของคลินิกคุณ

ผมไม่แนะนำให้คุณละทิ้งการพยายามสร้าง Standard และใช้แค่เสื้อกันฝนเป็นอาวุธนะครับ COVID-19 ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และอย่าเป็นคลินิกกล้าตายที่จะพาให้วงการเสียชื่อในวันที่มีข่าวออกทีวีว่ามีผู้ติดเชื้อมาจากคลินิกที่คุณทำงาน   ผมถือว่าทำลายความไว้วางใจที่คนไข้มอบแก่เราและยังทำให้วิชาชีพสูญเสียความน่าเชื่อถือด้วย

เราจะอยู่ใน Phase 2 ไปอีกนานแค่ไหน ?

แล้ว Phase 3 และ ?

ในประเด็นนี้ ไว้เรามาต่อกันในตอนที่  3 นะครับ

เอา Phase 1 และ 2 ให้รอดก่อนดีกว่า เนอะๆๆ อิอิๆๆ

 

ปล.ส่งท้ายนิดนึง ใครอยากช่วยบริจาคคนที่ตกหล่นจากการแจกเงิน 5,000 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ลูกเล็กและมีคนป่วยที่บ้านต้องดูแล ผมพยายามรวบรวมเงินเอาไปบริจาคโดยการโอนเงินสดให้แก่ผู้ที่ลำบากโดยตรง ใครอยากทำบุญด้วยกันตรงนี้ ทัก Line ผมมาได้นะครับ ID : modzzz072

 

สวัสดีครับ จาก หมอมด

  • Share

0 Comments

Leave a comment

Your email address will not be published.