แนวทางการป้องกัน การยักยอกทรัพย์ สำหรับคลินิกทันตกรรม

Posted on

ทุกธุรกิจย่อมมีปัญหาเรื่องเงินทั้งสิ้น โดยเฉพาะปัญหาภายใน การโกงและยักยอกทรัพย์ของพนักงานของเราเอง

 

ทั้งนี้ เราสามารถสร้างระบบเพื่อการจัดการในส่วนนี้ได้ โดยแยกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ


การจัดการด้านบุคคล

 

1.เลือกคนที่เหมาะสมมาทำงาน 

 

ถ้าพนักงานมีประวัติการลักเล็กขโมยน้อย หรือ มีพฤติกรรมที่คาดว่าอาจจะนำพาให้เขามีโอกาสผันตัวเป็นขโมย (ชอบเล่นการพนัน หนี้สินเยอะ ชอบใช้จ่ายเกินตัว ชอบยืมเงินชาวบ้าน)  ไม่ควรพิจารณารับไว้ทำงานด้านเงินทอง

 

เอาจริงๆ คนกลุ่มนี้ไม่เหมาะจะเอามาทำงานเลยด้วยซ้ำ เพราะคนที่มีปัญหาเรื่องเงินมากๆ มักจะทำงานได้ไม่สมบูรณ์ และอาจสร้างความเดือดร้อนให้คนในองค์กรด้วย เช่นการยืมเงิน หรือขโมยของเพื่อนร่วมงาน

 

2.การรับสมัครงาน จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน 

 

มีเอกสารการรับสมัครงานที่ถูกต้อง เหมาะสม มีประกันสังคมและสวัสดิการตามที่ควรจะพึงมีตามกฎหมาย เพราะถ้าไม่มีอนาคตถ้าลูกจ้างมีปัญหากับนายจ้าง อาจจะฟ้องกรมแรงงานได้

 

ถ้าพนักงานท่านนั้นต้องทำงานเกี่ยวกับเงิน หรือ อุปกรณ์ทางด้านทันตกรรมที่มีราคาสูง ควรมีคนค้ำประกัน

 

3.พนักงานจะต้องปฎิบัติตามกฎและระเบียบอย่างเคร่งคัด 

 

เมื่อมีการสร้างระบบ จะต้องมีการปฎิบัติตาม เสมือนมีกฎหมายจะต้องมีการบังคับใช้ (จะอธิบายระบบในหัวข้อต่อไป)


 

การจัดการด้านระบบ

 

การสร้างระบบ คือแบบปฎิบัติ และการใช้อุปกรณ์ต่างๆ อย่างเป็นรูปแบบ

 

ปัญหาของการสร้างระบบมีสองอย่าง คือ ระบบที่สร้างไว้นั้นหละหลวม คือ ยังมีช่องโหว่ให้ขโมย อันที่สองคือระบบสมบูรณ์แล้ว แต่ผู้ใช้งานกลับไม่ใช้ หรือไม่ปฎิบัติตาม

 

เช่น ถ้าคลินิกกำหนดให้ลูกค้าเซนต์รับเงินทุกเคสเวลาชำระเงิน แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยทำ เพราะอ้างว่าคนไข้เยอะ ไม่สามารถทำได้ทัน และลูกค้าไม่สนใจจะเซนต์ ทำให้ระบบที่เราต้องการมีเพื่อตรวจสอบกลับไม่ได้เกิดขึ้น และยิ่งถ้านายจ้างหยวนๆกับการกระทำงานที่ไม่เป็นระบบ ต่อไปจะทำอะไรลูกน้องก็จะชิวและไม่เคารพระบบที่วางไว้

 

จะว่าไประบบหรือแบบแผน ก็คล้ายกฎหมายบ้านเมือง การมีกฎหมายกำหนดไว้แต่ไม่มีการบังคับใช้ ก็ย่อมไม่มีประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ถ้าตำรวจไม่กวดขันเรื่องเมาแล้วขับ และไม่มีการตรวจจับและลงโทษอย่างจริงจัง ประชาชนย่อมแหกกฎเสมอเมื่อมีโอกาส

 

เราจะสร้างระบบการตรวจสอบลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ  ได้อย่างไร ?

ระบบที่ดี จะต้องสามารถตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ได้

ตลอดทั้งวัน มีลูกค้ากี่คน ?

เป็นใครบ้าง ?

ชำระเป็นเงินรายละเท่าไหร่ ?

ชำระในลักษณะใด ? (เงินสด บัตรเครดิต ฯลฯ)

 

ถ้าละเอียดและดียิ่งขึ้น จะลงลึกได้ถึงว่า แต่ละเคสชำระเวลากี่โมงกี่นาที ชำระด้วยธนบัตรอะไร และมีการทอนกลับไปกี่บาทด้วยธนบัตรใด เหรียญใด โดยเจ้าหน้าที่คนใด

 

ระบบต้องไม่ถูกทำลายง่ายๆ เช่น โดนลบข้อมูล หรือทำลายหลักฐาน หรือต่อให้ถูกทำลายก็จะต้องทราบว่าโดนทำลายหรือลบโดยใคร เมื่อไหร่ และมีการเก็บข้อมูลต้นฉบับก่อนถูกทำลาย

 

ระบบต้องสามารถ Cross Check และ Double Check ได้ เช่น ถ้าคนไข้รับใบเสร็จแล้วเซนต์ ควรมีต้นขั้ว หรือ copy เก็บไว้ หรือมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพที่คนไข้ได้รับใบเสร็จไป

 

เข้าเนื้อหาสำคัญดีกว่า ระบบที่ดีจะต้องมีหน้าตาและขั้นตอนอย่างไร ผมจะไล่เรียงตั้งแต่การรับคนไข้จนถึงการชำระและเก็บรักษาเงิน รวมเป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้

 

1.คนไข้เข้ามาในคลินิก

2.การยืนยันยอดจากหมอฟัน

3.การรับเงินจากลูกค้า

4.การรักษายอดเงินไว้ตลอดทั้งวัน

5.การเคลียร์เงินเมื่อปิดทำการ

6.การเก็บรักษาเงิน ที่ได้รับมาแล้ว

7.Cross Check , Double Check

 


1.คนไข้เข้ามาในคลินิก

 

ต้องมีการบันทึกว่า คนไข้ที่มาใช้บริการ คือใคร นัดหมอท่านใด ในเวลาใด

 

จุดนี้มักจะขาดกันไปสำหรับคลินิกบางแห่ง คือเวลา

 

การทราบเวลาที่มาใช้บริการจะช่วยในการตามรอยง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่คลินิกมีคนไข้เยอะ

 

การจะทราบว่าคนไข้มาเวลาใด สามารถทำได้ เช่น

 

1.กล้องวงจรปิด

2.ระบบเวชระเบียน คอมพิวเตอร์

3.คนไข้ลงชื่อว่ามาใช้บริการ พร้อมระบุเวลาที่มาใช้บริการ

 

กล้องวงจรปิด มุมกล้องและจำนวนกล้องจะสำคัญ เพราะถ้าไม่ชัดจะทำให้สังเกตุรายละเอียดของลูกค้าแต่ละคนยาก

 

ระบบเวชระเบียน ก็ต้องดูว่ามีการบันทึกเวลาไว้เมื่อคนไข้มาถึงหรือไม่

 

ส่วนการลงชื่อโดยคนไข้เอง ปัญหาคือคนไข้ต้องให้ความร่วมมือ (แต่ถ้ามีระบบที่ 1 และ 2 แล้ว ส่วนที่สามอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ แต่ถ้ามีไว้ก็ช่วยในการ Double check ละเอียดยิ่งขึ้น)


2.การยืนยันยอดชำระเงินโดยทันตแพทย์

 

ขั้นตอนนี้ เป็นช่องโหว่ที่ใหญ่

 

ยอดเงินที่หมอฟันระบุไว้ จะต้องเป็นยอดเดียวกับที่คนไข้ชำระ ไม่ขาดไม่เกิน เพราะฉะนั้น ตัวเลขที่ออกโดยคุณหมอจะต้องไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (นอกจากคลินิกที่มีการชาร์ตค่าบริการอื่นเสริม เช่น ค่า Sterile ค่าบริการพิเศษ ฯลฯ)

 

หรือถ้าจะเปลี่ยน จะต้องเป็นคุณหมอท่านเดิมเท่านั้น

 

ถ้าแบบง่ายๆ คือหลังจากคุณหมอทำฟันเสร็จ ก็จะออกใบเสร็จให้คนไข้ เพื่อไปชำระเงินที่เคาเตอร์ เพราะฉะนั้นคนไข้จะทราบเงินที่จะต้องจ่ายจากทันตแพทย์เอง พนักงานไม่มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงตัวเลข (ถ้าเขาจะเปลี่ยน ก็ต้องหาทางโกหกคนไข้ ซึ่งเราตรวจจับได้ด้วยกล้องบันทึกภาพและบันทึกเสียง)

 

หรือถ้าจะง่ายขึ้นคือหมอฟันเก็บเงินเองในห้องทำฟันเลย แบบนี้จบปัญหาเรื่องเงิน

 

ถ้ามีระบบคอม ในระบบจะต้องไม่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการ (หรือถ้าเปลี่ยน จะต้องสามารถตรวจสอบได้)


3.การรับเงินจากลูกค้า

 

จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมากที่สุด

 

เจ้าหน้าที่ได้เก็บเงินจากลูกค้าเกินจากยอดชำระ หรือไม่ ?

 

รับมาเท่าไหร่ ?

รับตอนเวลาไหน ?

ทอนไปเท่าไหร่ ?

ทั้งสองฝ่าย มีหลักฐานเป็นรูปธรรมทั้งคู่ หรือไม่ ?

 

ใบเสร็จรับเงิน  และ จังหวะรับส่งเงิน

ถ้าคนไข้ “ไม่ได้รับใบเสร็จ”  จะมีความเสี่ยงมากเวลามีปัญหาเรื่องเงิน เช่น คนไข้กลับไปบ้านแล้วบ่นว่ารับเงินทอนมาไม่ครบ หรือจ่ายเกิน

 

โดยเฉพาะ ถ้าคลินิกไม่มีระบบอะไรตรวจสอบอื่นๆมาช่วยยืนยันก็จะเป็นปัญหายุ่งยาก  ลูกค้าบางคนที่หัวหมอ ที่เห็นคลินิกหละหลวมเรื่องระบบ อาจจะมีลุกค้าหัวหมอมาเล่นแง่เล่นมุมทำให้คลินิกปวดหัวได้ เช่นได้เงินทอนครบแต่โวยวายว่าได้ไม่ครบ เป็นต้น

 

การบันทึกภาพ การชำระและทอนเงิน

16174883_1364068110318749_3756018081780975916_n

การมีกล้องวงจรปิดที่ชัดเจน และจับภาพบนเคาเตอร์การเงิน จะช่วยได้เยอะมาก ควรมีถาดหรือตระกร้าสำหรับจ่ายเงิน และวางเงินทอน พร้อมกับกรีดเงินให้เห็นครบทุกใบ แบบนี้จะทราบชัดเจนว่ารับมากี่บาทและทอนเท่าไหร่อย่างชัดเจน

16114786_1364068163652077_2561258480736997494_n

การรับเงิน และส่งเงินจากมือสู่มือ เป็นข้อต้องห้าม เพราะตรวจสอบยาก กล้องจับภาพได้ไม่ชัด

 

 

กล้องวรจรปิดหลายรุ่นสามารถบันทึกเสียงได้ ถ้ารุ่นดีๆจะชัดมาก แต่ต้องไม่มีสิ่งรบกวน เช่น เพลง เสียงรถยนต์ หรือ เสียงโทรทัศน์

 

การบันทึกเสียง และการให้ลูกค้าเซนต์รับเงินและจ่ายเงินจะสามารถดักจับได้ว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเงิน “เกินราคา” ที่คลินิกตั้งไว้หรือไม่


4.การรักษาเงินตลอดทั้งวัน หรือ ข้ามวัน

 

เงินที่รับมา ไม่ควรอยู่ในกระเป๋ากางเกง หรือ กระเป๋าเสื้อของพนักงาน ควรมีที่เก็บชัดเจนและเข้าออกอย่างเป็นระบบ

 

และอย่านำเงินทุกอย่างไว้ในกระเป๋าใบเดียวกัน จะดีที่สุด ถ้าแยกเงินอยู่หลายกระเป๋า ตามการใช้งาน เช่น

 

กระเป๋ารายจ่าย

เป็นกระเป๋าเงินที่ไว้จ่ายออกอย่างเดียว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากาแฟ อาหาร ค่าใช้จ่ายภายในวันนั้น

 

กระเป๋ารายรับ

เป็นกระเป๋าที่รับเงินที่มาจากลูกค้า ใบนี้จะต้องมียอดเงินตรวจกับรายรับประจำวันโดยไม่ขาดไม่เกิน เงินทอนก็ต้องอยู่ในกระเป๋านี้ จะข้ามไปเอาเงินในกระเป๋ารายจ่ายมาใช้เป็นเงินทอนไม่ได้

 

คลินิกต้องมีการเตรียมเงินทอนให้พนักงานไว้ใช้ ห้ามให้หนักงานเอาเงินส่วนตัวขึ้นมาใช้เป็นเงินทอนเด็ดขาด เพราะเป็นการเอาเงินของลูกน้องมาเข้ากระเป๋ารายรับจะก่อให้เกิดความสับสนได้ เพราะฉะนั้นต้องมีเงินไว้ให้เป็นเงินทอนตั้งแต่ต้นโดยเป็นเงินของคลินิก

 

กระเป๋าคลัง

กรณีที่กระเป๋ารายรับเริ่มใหญ่ จะแบ่งมาเก็บในกระเป๋าใบนี้ เพราะฉะนั้นใบนี้จะมีแต่เข้า ไม่มีออก ไม่มีทอน

 

ถ้ารายรับเป็นเงินสด อาจจะต้องมีการ “เคลียร์เงิน” ในระหว่างวัน คือการนำเงินออกจากกระเป๋าคลังออกไปเลย เช่น ถ้ารายรับเกิน 1 แสน จะต้องเคลียร์ 1 รอบ แม้ว่าจะยังไม่ปิดคลินิดก็ตาม จะช่วยละการผิดพลาดและความเสี่ยง เพราะเงินยิ่งเยอะ ยิ่งมีปัญหาได้ง่าย

 

สังเกตว่า ถ้าคนไข้ชำระเงินเป็นบัตรเครดิต จะตัดปัญหาเรื่องเงินไปเยอะมากๆ


5.การเคลียร์เงินเมื่อสิ้นสุดทำการ

ค้นหา เงินขาด หรือ เงินเกิน

 

เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเงินขาดหายไป หรือ เกินมาโดยไม่ทราบสาเหตุ  ถ้าเกิดขึ้น จะต้องเปิดระบบทุกอย่าง ทั้งคอม บิล และกล้องวงจรปิดมาดูและตรวจสอบให้ได้ภายในวันนั้น  การข้ามวันจะทำให้ยุ่งยากและตามรอยยิ่งยาก และเจ้าหน้าที่การเงินจะต้องอยู่เพื่อร่วมตรวจสอบด้วยตลอด  เพราะฉะนั้น บุคคลที่เคลียร์เงิน จะต้องมีความละเอียดรอบคอบและจริงจังกับเงินขาดเงินเกิน


6.การเก็บรักษาเงิน

 

เงินจะต้องอยู่ในที่ปลอดภัยที่สุด ได้แก่ ธนาคาร การนำเงินไปเข้าตู้ฝากเงินจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ต้องมีการเงินเข้าคลังหรือตู้เซฟเก็บเงิน

 

ส่วนการให้พนักงานเก็บไว้ที่ตัวเอง อันนี้ถือเป็นความเสี่ยง หรือเงินสูญหาย หรือ คนสูญหายไปพร้อมกับเงิน ลูกน้องบางคนที่เราไว้ใจ เขาอาจจะโดนโจรปล้น หรือ โดนลักทรัพย์ในวันนั้นก็เป็นได้ และโดยทั่วไปลูกน้องมักลำบากใจกับเก็บเงินไว้ที่ตัวเองเพราะก็กลัวหายเช่นกัน


7.การทำ Cross Check & Double Check

 

เราสามารถสร้างระบบเพื่อป้องกันการยักยอกสินค้าได้ด้วยระบบเบิกจ่าย สินค้าในคลินิกทันตกรรม เช่น แปรงสีฟัน ไหมขัดฟัน เป็นรายการที่โดยยักยอกได้ง่าย

 

การทำระบบคลังสินค้าที่มีระบบเบิกเข้าเบิกออกจึงควรมี และควรทำในลักษณะ Cross Checking เช่น ให้พนักงาน A เป็นคนนับสต๊อกสินค้า แต่พนักงาน B เป็นคนขาย เพราะฉะนั้น ยอดสินค้าที่เบิกไปจาก A จะต้องตรงกับยอดขายของ B (ซึ่งเราเช็คได้ทุกเดือนจากรายงานของทั้ง A และ B)

 

การส่วมอบของ จาก A ไป B มีการเซนต์ส่ง เซนต์รับ

 

ถ้ายอดขายจาก B เป็น 10 ชิ้น แต่สินค้าที่ปล่อยออกไปจาก A กลับเยอะถึง 15 ชิ้น และถ้าตรวจสอบพบว่า B ได้เซนต์รับมาเท่านั้นจริง แปลว่า B ยักยอกของไปจำนวน 5 ชิ้น เป็นต้น

 


สรุป

 

1.กล้องวงจรปิด และ ระบบเวชระเบียนคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้คลินิกมีหลักฐานได้อย่างดี จึงควรมีไว้

 

2.ใบเสร็จ ต้องออกทุกครั้ง ช่วยลดความผิดพลาดจากฝั่งลูกค้า

 

3.เลือกคนที่เหมาะสมมารับผิดชอบ

 

4.ต้องละเอียดและรอบคอบในการตรวจเช็ค

 

5.ถ้าคนไข้จ่ายผ่านระบบบัตรเครดิต คลินิกจะไม่ต้องลำบากเก็บรักษาเงิน แถมยังมีระบบตรวจสอบครบถ้วนของธนาคารรองรับ

 

6.ระบบ และขั้นตอนการทำงาน เช่น การรับบิล การวางเงินบนถาด เป็นสิ่งที่พนักงานจะต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด ห้ามหยวนๆ ห้ามทำเป็นเล่น หรือลืมเด็ดขาด ทางฝั่งผู้บริหารก็ไม่ควรหย่อนยาน

 

7.ถ้าสามารถตรวจจับได้ ควรจะดำเนินคดี การทำให้พนักงานคลินิกตระหนักว่าองค์กรให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเมตตาจนเกินไป จะทำให้พนักงาน “กล้า” โกงมากขึ้น

 

ทั้งหมดเป็นแนวทางพื้นฐานที่ควรจะมี ถ้าละเอียดหรือดีกว่านี้ย่อมถือว่าเยี่ยม

 

ถ้าท่านมีคลินิก หรือ กำลังทำงานในคลินิกแห่งใด อยากให้ลองพิจารณาดูว่าระบบหรือวิธีปฎิบัติของคลินิกนั้นครบถ้วนดังที่กล่าวมาแค่ไหน จุดใดที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ช่องนั้นแหละที่จะเป็นช่องให้ลูกน้องฉวยโอกาสได้

 

หวังว่าจะเป็นแนวทางเบื้องต้นในการสร้างระบบให้กับคลินิกของคุณหมอทุกท่านะครับ สวัสดีครับ

  • Share

0 Comments

Leave a comment

Your email address will not be published.