ทิศทาง ทางออก และ โอกาส ของคลินิกทันตกรรมเอกชน ในยุค COVID-19 (ตอนที่ 1)

Posted on

คลินิกทันตกรรมทุกแห่งล้วนได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ณ เวลานี้ โดยเฉพาะเจ้าของคลินิกที่มีค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องสถานที่และเงินเดือนพนักงาน เดือนละหลักหลายหมื่นถึงแสน และล้านในบางราย

เพราะสถานการณ์โรคระบาดนี้คือเหตุการณ์ใหม่สำหรับทุกคน ตั้งแต่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ผมรับสายโทรศัพท์รวมถึงตอบข้อความของแฟนเพจทุกวันเพื่อช่วยให้คำปรึกษาในประเด็นเครียดๆต่างๆ เช่น

  • จะปิด หรือ เปิดคลินิกดี ?
  • ถ้าเปิดคลินิกแล้ว จะต้องเตรียมตัวยังไง ?
  • เราจะคาดเดาสถานการณ์โรคระบาดนี้ยังไง ? แล้วมันจะไปในทิศทางใด ?
  • เราจะวางแผนยังไงดี เพื่อให้สามารถกลับมาทำฟันได้เหมือนเดิม ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม ?

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นมือปืน หรือ เจ้าของคลินิก ได้เห็นภาพกว้าง และสามารถวางแผนชีวิต และธุรกิจทันตกรรมของตนได้อย่างรู้ทัน  โดยเฉพาะเจ้าของคลินิกที่จะต้องสามารถกลับมาเริ่มทำฟันอีกครั้ง (Re-opening) จนไปถึงการฟื้นคืนคลินิกให้กลับมาสู่สภาพเดิม (Recover)

การระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก และสร้างผลกระทบไปทุกธุรกิจทุกแขนง ไม่เว้นแม้แต่ทันตกรรม

หน้าที่สำคัญของเราคือ

  1. เรียนรู้จากมันให้เร็วที่สุด
  2. คิดวางแผนเพื่ออนาคต
  3. รีบลงมือทำ

อย่าลืมนะครับ ว่าคนไข้ทุกคน ยังไงก็ต้องพึ่งพาหมอฟัน คุณต้องถามตัวคุณเองว่า คลินิกของคุณเป็นที่พร้อมที่จะให้บริการคนไข้ได้อย่างดีเยี่ยมในอนาคตอันใกล้นี้หรือเปล่า ?

ถ้าคุณสามารถทำได้ และทำได้ก่อนใคร คุณจะฟื้นคืนได้อย่างรวดเร็วกว่าคลินิกอื่นที่ยังครึ่งๆกลางๆในการวางแผนและตีโจทย์ต่างๆ

บทความนี้ จะยาวหน่อยนะครับ แต่ทุกหัวข้อสำคัญ เพราะจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี

ผมจะเล่าในสองประเด็น คือ

  • อธิบายลักษณะการระบาดของ  COVID-19  ทั้ง 4 phase
  • ในเชิงธุรกิจนั้น ใน 4 Phase เรา (หมอฟัน โดยเฉพาะคลินิกทันตกรรม) ต้องทำอะไรบ้าง ?

ในเชิงระบาดวิทยา เราสามารถแบ่ง Phase ของการระบาดของโรค COVID-19 ได้ทั้งหมด 4 Phase

**4 Phase มีอะไรบ้าง ผมอ้างอิงข้อมูลจาก National coronavirus response: A road map to reopening

 

Phase ที่ 1 การหยุดยั้งการแพร่กระจาย

ระยะนี้จะพบมีการระบาดของเชื้อเป็นวงกว้าง ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และพบในหลายที่หลายจังหวัด

1585014472148

ถ้าหน่วยงานรัฐไม่หยุดยั้งการระบาดของโรค สุดท้ายโรคนี้จะแพร่ขยายไปสู่ทุกคนอย่างรวดเร็ว และจะทำให้เกิดคนป่วยพร้อมกันมหาศาลจนยากที่จะรักษาได้ทันท่วงที และจะทำให้มีคนเสียชีวิตเยอะมากๆเพราะไม่สามารถรักษาได้อย่างทั่วถึง

 

สิ่งที่จะต้องรีบลงมือเพื่อหยุดยั้งการระบาด คือ การใช้มาตรการที่เข้มงวด และใช้กฎหมายพิเศษเพื่อมาควบคุมโรค ซึ่งการจะควบคุมโรคติดต่อได้นั้น จะต้องควบคุมคนให้ได้

เดือนเมษายน พศ.2563 นี้ เราจึงพบว่ามีการสั่งการให้ยกเลิกประเพณีสงกรานต์ หลายจังหวัดประกาศปิดการเข้าออกของประชาชน มีการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการติดโรค เช่น ห้าง โรงเรียน ที่ทำงาน ร้านอาหาร สถานบันเทิง สนามกีฬา ยกเลิกกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสริ์ต งานอีเว้น งานประชุมอบรม

1583405507_22207_

ส่วนการรณรงค์เรื่องอนามัย ก็มีการเผยแพร่การส่งเสริมป้องกันผ่านสื่อต่างๆ เช่น ข่าวโทรทัศน์ ป้ายไวนิล เพื่อให้ประชาชนตระหนักในการป้องกันตนเอง เช่น การใส่หน้ากากอนามัน การล้างมือ การทานอาหารที่ปลอดภัย เป็นต้น  รวมไปถึงการบังคับให้ Work from Home , Study at Home และทำ Social distance และใครตัดสินใจกลับบ้านที่ต่างจังหวัดก็จะต้องโดนกักตัว 14 วันเพื่อเฝ้าดูอาการซึ่งแน่อนว่าจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานกับที่ทำงาน เกือบทุกคนจึงตัดสินใจอยู่กับที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

08e23dde7d8cf8d9605bc6fd663f8516a73a03b31dc7281614c9f8a4cbda7ede

ระยะนี้กล่าวโดยสรุป คือ เป็นการพยายามขอความร่วมมือ และถ้าความร่วมมือไม่เกิดขึ้นเพียงพอก็ใช้มาตรการหลายๆอย่าง “บังคับ” เพื่อหวังผลให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้ออย่างหวังผลที่สุด

ซึ่งแน่นอนว่ากระทบทุกธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คลินิกทันตกรรมด้วยเช่นกัน

 

แล้ว Phase 2 มันเป็นยังไง ?

แล้วเมื่อไหร่เราจึงจะไปสู่ Phase 2 ได้ละ ?

Phase 2 ผมเล่าคร่าวๆนิดนึง คือ เป็นระยะที่เราจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่บนเงื่อนไขใหม่ เช่น ยังต้องทำ Social distance และใส่ mask กันต่อ แต่กิจการห้างร้านจะกลับมาเปิดปกติแต่คงอยู่บนการควบคุมที่เข้มงวด (บทความ : Germany set to consider relaxing coronavirus restrictions)

รายละเอียดเกี่ยวกับ Phase 2 ผมจะมาเล่าละเอียดๆในตอนที่ 2 นะครับ

แต่ทั้งนี้ จาก Phase 1 เราจะไปสู่ระยะที่สอง หรือ Phase 2 ได้นี่  ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบ 4 อย่างนี้เป็นอย่างน้อย

  1. สามารถควบคุมตัวเลขของผู้ติดเชื้อได้เป็นตัวเลขที่ลดต่อลงเรื่อยๆ และมีตัวเลขที่ใกล้เคียง 0 มากที่สุดอย่างน้อย 14 วันติดต่อกัน (เช็คข้อมูลล่าสุดได้ในเวปไซด์ WorldOmeter)
  2. โรงพยาบาลมีทรัพยากรด้านบุคลากรและอุปกรณ์มากพอที่จะดูแลคนไข้ใน Phase 1 ได้เต็มที่โดยไม่ปล่อยใครให้ตายเพราะเข้าไม่ถึงการแพทย์
  3. มีการใช้ชุดตรวจเพื่อตรวจให้กับประชากรทั้งประเทศ
  4. มีการติดตามผู้ที่ป่วยอย่างใกล้ชิด (ซึ่งอาจจะอยู่โรงพยาบาล หรือ กักตัวเองในสถานที่ๆเหมาะสม)

*** ประเทศไทยยังปัญหาติดข้อ 3 อยู่ ที่ไม่สามารถหาชุดตรวจเพื่อตรวจประชากรให้เยอะที่สุด อย่าลืมว่าการเน้นตรวจน้อยๆ ตามระบบ PUI ของไทยเราจะทำให้ตัวเลขคนป่วยใหม่น้อยกว่าความเป็นจริงได้ เพราะเกณฑ์ผู้ป่วย PUI มีความไวน้อย (บทความ : ทำไมประเทศไทยถึงมีผู้ป่วยโควิด-19 น้อย? ในมุมมองของ ‘นักสอบสวนโรค’ : The Momentum )

***ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยที่น้อยมีหลายเหตุผลของ นายแพทย์. William L. Aldis อดีตตัวแทน WHO ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตไว้หลายข้อ เช่น เชื้อได้แพร่ไปทุกจังหวัดและลงไปในระดับชุมชนแล้ว และเคสใหม่ๆไม่ได้ลิ้งกับการป่วยของเคสที่เป็น Cluster จากผับทองหล่อ หรือ สนามมวย ฯลฯ(บทความ :  Covid-19 in Thailand: Are we missing something?)

ตอนนี้เราอยู่ไหนตรงไหนของ Phase 1 ?

ย้อนกลับไป วันที่ 13 เมษายน 2563 เรามาดูกราฟผู้ป่วยใหม่กันนะครับ

 

Screen Shot 2563-04-13 at 23.22.04

ในตารางนี้เราจะพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไทยเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนเป็นต้นมา จาก 58 คน เหลือเพียงวันละ 28 คน ในช่วง 5 วัน

เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงเรื่อยๆได้ติดต่อกัน 14 วัน โดยที่ตัวเลขอยู่แค่ที่สิบต้นๆ หรือ เลขหลักเดียว (ถ้าดีสุด คือ ตัวเลขเป็นศูนย์) ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่เราควบคุมโรคระบาดได้

*** แต่ความน่ากังวลในอนาคต คือการระบาดจะเกิดขึ้นซ้ำได้ง่ายในเคสที่ติดโรคแต่ไม่ได้รับการตรวจ หรือ หลุดลอดไป

ส่วนตัวผมคิดว่า COVID-19 จะคล้าย HIV คือ ถ้าไม่ตรวจเราจะไม่รู้ว่าเราติดเชื้อหรือเปล่า ? เพราะบางคนอาจจะไม่มีอาการเลย ยังไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อยมากๆ (บทความ What We Know About The Silent Spreaders Of COVID-19)

เพราะถ้าเราเทียบกับหลายๆประเทศเช่น เยอรมัน และเกาหลีใต้ เรายังถือว่ามีการตรวจที่น้อยมากๆ และระบบ PUI ที่ความไวต่ำ

4_Table-e1584089031267

เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกท่านย่อมได้คำตอบแล้วว่า “เราถึงไหนแล้วในการสู้กับ COVID-19”

คำตอบคือ **เราเพิ่งจะอยุ่ใน Phase 1** และกำลังใช้มาตรการในการควบคุมคนให้อยู่กับที่มากที่สุด แนวโน้มในการควบคุมโรคก็ดูพอใช้ได้ และสมมุตเราขึ้น Phase 2 ได้ก็ไม่ควรชิวหรือคิดว่าทุกอย่างมันจบแล้ว เพราะยังมี Phase 2 , 3 และ 4 ที่เราต้องเตรียมกันต่อครับ

และที่สำคัญ ถ้าการควบคุมคนยังทำได้ไม่ดี หรือ ประชาชนไม่เข้มงวดกับการดูแลตัวเอง ความเสี่ยงทุกวันที่จะวนกลับมา Phase 1 เพราะเป็นไปได้สูงมาก

แล้วประเทศอื่นๆ ละ ??

ยกตัวอย่างประเทศที่เริ่มคุมได้เป็นเรื่องเป็นราวนะครับ เช่น เกาหลีใต้

Screen Shot 2563-04-15 at 21.32.02

จากที่เคย Peak ถึงระกับพบผู้ป่วยใหม่วันละ 800 คน ตอนนี้เหลือแค่ 20 คนเท่านั้น อย่างงี้ถึงว่าควบคุมได้ดีเยี่ยมและเตรียมตัวเข้า Phase 2 ได้สบายๆ

ส่วนพวกประเทศฝั่งยุโรปยังน่าเป็นห่วงทุกประเทศ ลองมาดูอิตาลี กัน

Screen Shot 2563-04-13 at 23.21.31

อิตาลีป่วยเพิ่มขึ้นต่อวันราว 3-4000 คน กราฟยังไม่ลงสามล้อดูก็รู้วว่ายังไม่สามารถควบคุมโรคได้ แถมค่อนข้างวิกฤติในส่วนของโรงพยาบาล เพราะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยใหม่เกิดใหม่ที่มีเฉลี่ยวันละหลายพันคน ทำให้อัตราการตายสูงถึง 10%

สรุป คือ อิตาลี ยังคุมโรคไม่ได้ และยังคงต้องอยู่ใน Phase 1 อีกยาวอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ถึงตัวเลขผู้ป่วยใหม่จะลดลงเหลือหลักร้อย เช่นเดียวกับ สเปน และอังกฤษ  และล่าสุดฝรั่งเศสก็ประกาศเพิ่มการ lockdown อีก 1 เดือน : ข่าว France to remain in strict lockdown for another month

จะเห็นได้ว่าการจะขยับจาก Phase 1ไปสู่ Phase  2 ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

และเจ้า Phase 1 นี่แหละ ที่ทำให้เศรษฐกิจชะงัก

ยิ่งนานเท่าไหร่ คนจะจนลงเรื่อยๆ และธุรกิจจะค่อยๆตายไปเพราะขาดสภาพคล่อง (เงินไม่หมุน)

*** พูดถึงคนจนลงเรื่อยๆ อยากจะแชร์ว่าประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ เช่นกลุ่มพี่ๆกรรมกรและผู้ใช้แรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำรายวัน กลุ่มนี้ตกงานมาตั้งแต่ต้นเมษายนแล้ว และหลายคนเข้าไม่ถึงเงิน 5,000 บาทที่รัฐบาลแจก ผมจึงมีแผนจะทำบุญโดยปรึกษาร่วมกับผู้ใหญ่ที่ทำงานด้าน NGO มาเขาแนะนำว่าควรมอบเงินให้กับคนที่ลำบากไปเลย เช่น มอบเลยคนละ 1,000 บาท ผมกับภรรยาก็เลยอยากจะไปมอบแก่ผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้ที่ตกงานอยู่ เงิน 1,000 บาทนี้สำคัญมากเพราะพวกเขาจะต้องส่งเสียหนี้สิน ส่งให้คนที่บ้านต่างจังหวัด หลายคนมาลูกเล็กต้องการนม เงินสดจึงสำคัญและช่วยพวกเขาได้มากๆ

*** ผมไม่ได้เน้นแจกทุกคนแต่จะโฟกัสเฉพาะคนที่ลำบากจริงๆ ซึ่งจะรู้ได้จากการเดินลงชุมชน ซึ่งผมก็จะเดินแล้วชวนคุยคนแถวนั้นไปเรื่อย ถ้าพบคนที่ลำบากแน่ๆ(ซึ่งจะรู้ได้จากการชวนคุยก่อน) ผมจะมอบเงินให้ ผมจำเป็นต้องทำเนียนๆเงียบๆ เพราะถ้าเดินแจกเลยผมว่าจะโกลาหนน่าดู แผนผมคือมอบเงินคนละ 1,000 บาท โดยผมกะว่าจะบริจาคด้วยเงินส่วนตัว 5,000 บาทต่อสัปดาห์

***ฝั่งโรงพยาบาลและอุปกรณ์แพทย์ตอนนี้มีคนบริจาคเยอะแล้ว แต่คนระดับล่างที่ยากไร้กำลังจะตายด้วยความยากจน 1,000 ช่วยเขา ครอบครัวเขา และลูกเล็กของได้มหาศาลในเวลานี้

*** ถ้าคุณอยากทำบุญช่วยเหลือประชาชนที่กำลังอดตายด้วยวิธีที่ผมกำลังจะทำ คุณจะฝากผมไปช่วยทำบุญได้นะครับ ผมกะจะไปแถวกีบหมู ซอย สุเหร่าคลองหนึ่ง ตรงนั้นเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ของคนต่างจังหวัดมาเช่าที่พักเพื่อทำงานรับจ้าง ติดต่อ Line ส่วนตัวผมได้เลยนะครับ ID : modzzz072 ผมจะส่งหลักฐานให้ว่ามอบแก่ใครคนไหนและเงินนี้จะตกถึงมือผู้ยากไร้แน่นอน

กลับมาบทความของเรานะครับ ๕๕๕

ใน Phase 1 คลินิกทันตกรรม ต้องทำอะไรบ้าง ?

แล้วจะทำยังไงให้สามารถประคองตัวให้ผ่านพ้นระยะนี้ไปได้ ?

 

ใน Phase 1 คลินิกทันตกรรมทำอะไรมากไม่ได้

เพราะโจทย์หลักของประเทศคือการควบคุมโรคระบาดให้ได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เร่งด่วนและสำคัญมากกว่า ณ เวลานี้ คุณจึงทำได้แต่เพียงทำตามกฎหมาย หรือ ข้อบังคับที่สั่งการลงมา

คลินิกทันตกรรมจะทำอะไรได้บ้าง ? โดยหลักจะมีผู้มีอำนาจเหนือคลินิกอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

1.สาธารณสุขจังหวัด

2.ผู้ว่าราชการจังหวัด

3.คำสั่ง ตามพรก.ฉุกเฉิน

ทั้งสามส่วนนี้ มีอำนาจที่จะสั่งให้คลินิกเปิด หรือ ปิดได้ตามกฎหมาย รวมถึงข้อปฎิบัติต่างๆ

ในระดับของจังหวัดนั้น (ส่วนที่ 1 และ 2 ) เราจะพบว่ามีความแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด เช่น บางจังหวัดถึงขั้นสั่งให้คลินิกปิดเลย เช่น ภูเก็ต เป็นต้น (ภูเก็ตปิดสถานที่เสี่ยงแพร่โควิด-19 เพิ่มเติม สวนสาธารณะ-คลินิกทันตกรรม)

S__36102146

S__36102148

ที่เชียงใหม่ประกาศห้ามทำฟันที่ไม่เร่งด่วน คลินิกใดฝ่าฝืนมีโทษอาญาจำคุกและปรับเลยทีเดียว ตามเอกสารข้างบน

บางอย่างก็ไม่ได้เป็นข้อบังคับ แต่ก็เป็นคำแนะนำที่จริงจัง เช่น หลีกเลี่ยงการทำหัตถการที่ฟุ้งกระจายและให้เหลือการรักษาแต่ Emergency Treatment เท่านั้น  (วอนทันตแพทย์เลื่อนกรณีทำฟันไม่เร่งด่วน ลดการแพร่ระบาดเชื้อ ‘โควิด-19’ : Hfocus)

แล้วเราควรปิดคลินิกหรือไม่ ?

เราในฐานะเจ้าของคลินิกจะต้องโฟกัสอะไรบ้าง ?

 

แยกเป็นสองกรณี คือ

1.กรณีการระบาดของโรคยังสูงและยังควบคุมไม่ค่อยได้

ตามทฤษฐีใน Phase 1 ถ้าการแพร่ของ COVID-19 ยังสูงและเพิ่มต่อเนื่อง เช่น พบผู้ป่วยใหม่วันละ 2-300 ราย ธุรกิจบริการเกือบทุกแห่งไม่เว้นแม้แต่คลินิกทันตกรรมจะต้องหยุดให้บริการเพื่อเป็นการสนุนให้ประชาชนอยู่เฉยๆที่บ้านให้มากที่สุด โดยหวังผลว่าจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อจนเข้าใกล้ศูนย์มากที่สุด และแม้แต่เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงที่ท่านายกพูดทีจริงทีเล่นก็อาจจะได้ใช้ถ้าสถานการณ์มันแย่ลง

ในสถานการณ์นี้จะน่ากังวลมากถ้า Phase 1 ลากยาวหลายเดือน

คลินิกควรจะทำอะไรบ้าง ?

  1. คุณต้องตั้งสติ และอย่า Panic อย่าลืมว่าถ้าคุณคิดจะเป็นผู้บริหาร คุณจะต้องมีความเป็นผู้นำ (Leadership) คุณจะมาตีโพยตีพายหรือโพสบ่นด่าทอโชคชะตาในโลกโซเชี่ยวไม่ได้ ตรงกันข้ามคุณต้องนิ่งและคิดวางแผนเพื่อเอาคลินิกให้รอดใน Phase 1 ให้ได้
  2. เนื่องจากคลินิกคุณรายรับน้อยลงมากและอาจไม่มีรายรับเลยถ้าคุณปิดคลินิก คุณจะต้องวางแผนเพื่อลดรายจ่าย โดยอย่ารีบลดเงินเดือนพนักงาน เพราะจะเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจอย่างมาก ตรงกันข้ามถ้าคุณสามารถสร้างขวัญและกำลังใจพร้อมสัญญาว่าจะไม่จ้างออก หรือ เลิกจ้างได้ คุณจะสร้างศรัธทากับพนักงานอย่างสูง
  3. อย่าคิดฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้า สสจ.สั่งห้ามอะไรคุณต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  4. เก็บทรัพยากรที่สำคัญของคลินิกไว้ เช่น ฐานคนไข้ พนักงานและทีมทันตแพทย์  แม้ ณ เวลานี้จะยังไม่สามารถดำเนินคลินิกได้ในสภาวะปกติ แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรอวันที่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ
  5. กรณีที่เป็นคลินิก Chain มีหลายสาขาและมีค่าใช้จ่ายจ้างพนักงานสูงหลายๆแสนถึงล้าน จะต้องวางแผนการเงินดีๆเพราะถ้า Phase 1 ลากยาวเกิน 2 เดือนจะเสี่ยงมากที่จะขาดสภาพคล่องถ้าเงินสดคุณไม่มากพอ
  6. ถ้าเดิมทีคุณมีค่าใช้จ่ายสูงมากๆ เช่น ผ่อนตึกไว้ 20-30 ล้าน หรือมีภาระหนี้สินพะรุงพะรัง คุณจะต้องวางแผนให้ดีว่าควรจะ cut lost หรือไม่ เมื่อไหร่ ยังไง หรือควรจะมีแผนสองที่ทำไปเลยคือ Diversification (คิดหาทำธุรกิจใหม่)

2.กรณีเริ่มควบคุมได้ (เริ่มเข้าสู่ Phase 2)

ถ้าสามารถคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้สำเร็จ ทางหน่วยงานควบคุมโรค ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกักประชาชนให้อยู่แต่ในบ้าน และอาจจะไม่จำกัดการบริการของคลินิกทันตกรรม คลินิกก็จะสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ

ทั้งนี้ สำหรับคลินิกทันตกรรม แม้จะสามารถเปิดได้อย่างปกติ แต่สำหรับโรคระบาดรอบนี้ คลินิกทันตกรรมของคุณจะต้องมี Major Change สำหรับการลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และเริ่มคิดแผนการตลาดใหม่ๆในสังคมที่มีบริบทใหม่ๆ (เอาไว้คุยกันในตอนที่ 2 นะครับ)

สรุป

ประเทศไทยเราตอนนี้ยังอยู่ใน Phase 1 (วันที่ 16 เมษายน 2563) แต่มีแนวโน้มที่ดีว่าน่าจะเข้าใกล้ Phase 2 ในอนาคตอันใกล้ คลินิกทันตกรรมก็ทำได้เพียงรักษาเนื้อรักษาตัว ตั้งสติ ประคับประคอง ถ้าเข้าสู่ Phase 2 ทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น

แต่ถ้าโชคร้าย Phase 1 ลากยาว คุณก็ต้องดูแลตัวเองและคลินิกให้ดี และเอาให้อยู่จนกว่าจะถึงวันฟ้าสีทองผ่องอำไพ

แล้วมาติดตามอ่านตอนต่อไปนะครับ

ปล.ใครสนใจอยากฝากเงินไปทำบุณ ติดต่อ Line ส่วนตัวผมได้เลย id: modzzz072

 

หมอมด

 

 

  • Share

0 Comments

Leave a comment

Your email address will not be published.