Jab Jab Jab, Right Hook แย็บบ่อยๆ สอยด้วยฮุคขวา
เคล็ดลับโซเชียลมีเดีย ตอนที่ 2
มาถึงตอนที่ 2 ที่ผมคิดว่าทุกท่านคงอยากอ่านมากกว่า ตอนที่ 1 แน่นอน เราจะมาพูดถึง Facebook กันล้วนๆเลยนะครับ (ท่านใดยังไม่อ่านตอนที่ 1 ผมแนะนำว่าให้อ่านก่อนนะครับ เพราะศัพท์บางคำจะมาจาก ตอนที่ 1 )
ทุกท่านต้องทราบก่อนนะครับว่าสิ่งที่ Facebook ให้ความสำคัญสูงสุดคือ ทำให้แพลตฟอร์มของเค้ามีความสำคัญต่อผู้บริโภคไม่ใช่นักการตลาดหรือธุรกิจของคุณ (สังเกตได้จากการลดการมองเห็นเพจลงต่ำกว่า 4% ซึ่งหมอมดได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว)
ถ้าให้ความสำคัญกับธุรกิจมากกว่าแล้วคนทั่วไปจะมาเล่นทำไม ถูกมั้ยครับ
Facebook แคร์ว่าคนสนใจคอนเทนต์ที่พวกเขาเห็นหรือไม่ มีคนแชร์ คอมเมนต์หรือไม่ นั่นคือสาเหตุที่ทำไมต้องสร้างคอนเทนต์คุณภาพที่คนอยากอ่านและอยากมีส่วนร่วมอยู่เสมอ เพราะโอกาสที่คนเหล่านั้นจะเห็นแบรนด์ของคุณใน Facebook ในครั้งต่อๆไปขึ้นอยู่กับระดับความผูกพันที่มีต่อเพจ (Engagement ที่เกิดจากการไลค์ แชร์ หรือคอมเมนต์ โพสต์ของเพจคุณ) ซึ่งในแพลตฟอร์ม Facebook การตอบสนองของผู้ใช้บริการที่มีต่อหมัดแย็บคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
มันไม่ผิดเลยถ้าจะต้องใช้เงินบ้างใน Facebook (ที่เราเรียกว่าบูสโพส) แต่ต้องเป็นการใช้เงินอย่างชาญฉลาด เช่น สร้างคอนเทนต์ขึ้นมา 2 ชิ้นที่ไม่เหมือนกัน ยิงไปยังกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน (เพื่อต้องการทราบว่ากลุ่มเป้าหมายนี้ชอบคอนเทนต์ลักษณะใด) หรือสร้างขึ้นมา 1 ชิ้น แต่ยิงไปคนละกลุ่มเป้าหมาย (เพื่อต้องการทราบว่าคอนเทนต์ลักษณะนี้ กลุ่มเป้าหมายใดที่ชอบ) แล้วเราก็มารอดูผลตอบรับว่าเป็นอย่างไร ถ้าชิ้นหนึ่งผู้บริโภคตอบรับดีมีส่วนร่วม Facebook จะแสดงคอนเทนต์นั้นในนิวฟีดให้คนเห็นมากขึ้น ซึ่งทำให้คอนเทนต์นั้นปรากฏซ้ำๆให้กลุ่มผู้ชมจำนวนมากขึ้นได้เห็น โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ส่วนอีกอันที่ให้ผลต่ำกว่าก็จงหยุดยิง แล้วนำไปวิคราะห์ถึงเหตุผลต่างๆว่าทำไมคอนเทนต์ชิ้นหนึ่งถึงดีกว่าอีกชิ้น ซึ่งการลงทุนโฆษณาในเฟสบุ๊คไม่ใช่การลงทุนที่สิ้นเปลืองเลย อันที่จริงแล้วมันกลับคุ้มค่ากว่าการลงสื่อโฆษณาแบบดั้งเดิมเสียอีก เพราะคุณมั่นใจได้ว่าคนที่เห็นคอนเทนต์ที่คุณยิงโฆษณาคือกลุ่มเป้าหมายที่คุณระบุไว้ และหากต้องเสียเงินไป 10 หรือ 100 บาทต่อ 1 ไลค์หรือคอมเมนต์มันก็ยิ่งคุ้มค่า เพราะบรรดากลุ่มเป้าหมายมีแนวโน้มจะแชร์คอนเทนต์ของคุณต่อให้ฟรีๆ และอาจแชร์มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือเพื่อนของเพื่อนมาแชร์ต่ออีกก็ได้ ถ้าคุณสามารถมอบคอนเทนต์ที่พวกเขาต้องการ
การโฆษณาโพสต์ Facebook จะคำนวณมูลค่าแรกเริ่ม (Initial value) ของโพสต์โฆษณานั้น โดยคำนึงถึงคู่แข่งที่คุณต้องเผชิญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และจำนวนเงินที่คู่แข่งนั้นยินดีจ่าย ถ้าโฆษณาของคุณดีจริง มีคนไลค์ แชร์ หรือคอมเมนต์มากกว่าคู่แข่ง Facebook จะตัดสินว่าโฆษณาของคุณดีกว่าและจะให้คุณซื้อจำนวนครั้งที่มีคนเห็นโฆษณานั้นในราคาถูกกว่าคู่แข่ง และยิ่งคนมีส่วนร่วมมากขึ้น ระบบก็จะยิ่งแสดงโพสต์นั้นให้คนเห็นมากขึ้นไปอีกและต้นทุนแรกเริ่มก็จะยิ่งลดลง แต่เมื่อคนเลิกสนใจไม่นานโพสต์นั้นก็จะจางหายไป (นอกเสียจากเรายังคงจ่ายเงินเพิ่มสำหรับค่าโฆษณานั้นต่อไป)
แต่จะทำไปทำไมในเมื่อต้นทุนมันจะสูงขึ้นในขณะที่ผลลัพธ์เท่าเดิมหรือน้อยลง ? ปัจจุบัน Facebook ปรับอัลกอลิทึมหลายครั้งและนั่นส่งผลให้การแสดงผลของแฟนเพจลดต่ำลงมากๆ แต่ไม่ว่า Facebook จะเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรก็ตาม คอนเทนต์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะ Facebook คือแพลตฟอร์มสำหรับการแย็บไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับหมัดฮุคขวา
ถามคำถามต่อไปนี้ทุกครั้ง เมื่อคิดจะเขียนคอนเทนต์ในเฟสบุ๊ค
ข้อความยาวเกินไปหรือปล่าว อ่านแล้วทำให้คิด สนุก หรือน่าแปลกใจหรือไม่
เพราะด้วยเนเจอร์ของคนไทย (และผมก็คิดว่าชาติอื่นก็คงคล้ายกัน) อ่านหนังสือเฉลี่ยไม่กี่บรรทัด การจะให้ลูกค้าตามอ่านจนจบนั้นยากมาก ข้อความควรสั้นกระชับแต่ได้ใจความ
รูปที่ใช้ในโพสต์สวย คุณภาพดีหรือไม่
หยุดใช้โปรแกรม paint หัดใช้ Photoshop หรือ Illustrator ได้แล้วนะครับ หรือรูปถ่ายก็ควรถ่ายให้สวย หยุดใช้มือถือรุ่นเก่าๆความละเอียดต่ำๆ ถ่ายแล้วลงเลย ไม่ผ่านการปรับแต่งใดๆ มันไม่เท่เอาซะเลย
เห็นโลโก้(ของแบรนด์ในรูป) ชัดไหม
ควรแปะไว้ซักมุมที่ไม่กีดขวางรูปหรือข้อความที่ต้องการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการจดจำโลโก้ของแบรนด์
วีดีโอความยาวมากเกินไปหรือไม่
วีดีโอที่ยาวเกินไปคนดูมักจะดูไม่จบ ยิ่งหากสิ่งที่ต้องการสื่ออยู่ท้ายวีดีโออาจจะทำให้เกิดความล้มเหลวในคอนเทนต์นั้นได้ วิดีโอควรสั้นกระชับและมีเนื้อหาน่าสนใจเพราะหากวีดีโอน่าเบื่อ ถึงมันจะสั้นคนดูก็จะปิดก่อนที่มันจะจบเสียอีก
สิ่งที่ต้องการให้ลูกค้าทำอยู่ถูกที่ถูกตำแหน่งหรือไม่
ถ้าคอนเทนต์เริ่มต้นมาก็ขอให้คนอ่านทำนั่นทำนี่ คุณคิดว่าจะมีใครอ่านต่อไหมครับ แต่คอนเทนต์ที่น่าสนใจที่มาพร้อมกับการขอให้ทำที่เนียนไปด้วยกันมักจะทำให้ผู้อ่านทำตามโดยไม่รู้ตัว
คอนเทนต์น่าสนใจจริงหรือไม่ จะมีใครสนใจบ้างหรือปล่าว
อย่าคิดว่ามันน่าสนใจเพราะตัวเราคิดว่ามันน่าสนใจ ให้ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนอื่นเราจะอ่านหรือจะแชร์ต่อคอนเทนต์นั้นมั้ย ผมแนะนำว่าควรมีที่ปรึกษาที่ไม่ใช่ทันตแพทย์และกล้าวิจารณ์เรา ลองทำคอนเทนต์ขึ้นมาให้คนอื่นวิจารณ์ก่อน ก่อนที่จะเผยแพร่มันออกไป เพราะสำหรับเรามันอาจเจ๋งแต่สำหรับอีก100คนมันอาจไม่เจ๋งเลยก็ได้
เราเรียกร้องจากผู้อ่านคอนเทนต์นี้มากเกินไปหรือไม่
เช่น ถ้าชอบก็กดไลค์ กดแชร์ คอมเมนต์ว่า”ชอบจัง” ด้วยนะคะ อย่าขอมากเกินไปเพราะแทนที่ผู้อ่านชอบแล้วเค้าจะแชร์เองกลับเป็นไม่แชร์เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังพยายามทำอะไรมากขึ้นจากการร้องขอของเรา ยิ่งถ้าเป็นโพสต์ฮุคขวาขายของด้วยแล้วการเรียกร้องจากผู้อ่านมากไปย่อมไม่ให้ผลดีเช่นกัน
โซเชียลมีเดียอาจเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวน แต่ถ้าคุณไม่ย่อท้อและตื่นตัวอยู่เสมอเพื่อค้นหาวิธีการนำการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คุณจะไปไกลกว่าคนอื่นและได้รับของขวัญจากความพยายามนั้น สู้ๆครับ
ปล.เล่มต่อไปเรามาถอดหนังสือ ชื่อ พฤติกรรมพยากรณ์ กันนะครับ เล่มนี้เป็นหนังสือด้านพฤติกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ที่โด่งดังมากที่สุดเล่มหนึ่ง ไว้พบกันครับ
0 Comments