7 ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการทำการตลาด สำหรับคลินิกทันตกรรม

Posted on

เกิน 1 ปีแล้ว ที่ได้ทำเพจและเวปไซด์ ทั้งนี้ยังมีความเข้าใจผิดๆวนเวียนอยู่ในแวดวงคลินิกทันตกรรมเอกชน

ผมรวบรวมจากคำถามของแฟนเพจ และข้อสงสัยที่ติดๆขัดๆ ออกมาสรุปเป็น “7 ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการทำการตลาด สำหรับคลินิกทันตกรรม”

ได้แก่

1 การตลาด คือการโฆษณาและจัดโปรโมชั่น

2.ทำฟันดีให้ดีก็พอ แล้วจะปากต่อปากเอง

3 คลินิกทันตกรรมเอกชน ไม่ควรเป็นธุรกิจ (เกินไป)

4.ธุรกิจและการตลาด ทำลายจรรยาบรรณและจริยธรรมอันดีของทันตแพทย์

5.เปิดคลินิก ยังไงก็ไม่เจ๊ง

6.หมอทุกคนเหมาะเป็นเจ้าของคลินิก

7.เปิดคลินิกเล็กๆ ลงทุนน้อยๆ ก็พอ……..เผื่อเจ๊ง

 


1 การตลาด คือการโฆษณาและจัดโปรโมชั่น

 

พอนึกถึงคำว่าการตลาด เรามักจะนึกถึง …………….

การคิดราคาค่าทำฟันถูกแสนถูก คนจะได้มาเยอะๆ

การทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม

แจกใบปลิว โปรโมตคลินิก

เช่าป้ายโฆษณาขนาดใหญ่

จริงๆแล้วการตลาด มีความหมายมากกว่าแค่การโฆษณา และการจัดโปรโมชั่น ยกตัวอย่าง

1. การตั้งราคาค่าทำฟันให้เหมาะสมกับ position ที่วางไว้ ถ้าเป็นคลินิกที่เน้นตกแต่งหรูหรา และมีความเป็นส่วนตัวสูงพร้อมกับบริการเหนือระดับ ย่อมจะสามารถตั้งราคาค่าบริการสูงกว่าราคาเฉลี่ยในตลาดได้ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ การคิดค้นสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับลูกค้า(ที่เราเลือกไว้)ในราคาที่สัมพันธ์กัน ก็เป็นการตลาดอย่างหนึ่ง

2. ลูกค้าย่อมมีหลาย segment แล้วแต่เราจะแบ่งแยก เช่นตามอาชีพ ตามวัย ตามรสนิยม ตามความต้องการรับการรักษา การเลือกสื่อสารกับกลุ่มใดกลุ่มอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อให้ตรงกับกลุ่มนั้นก็การตลาด เช่น ถ้า segment ว่าจะเน้นการรักษาโรคเด็ก ก็ย่อมที่จะต้องตกแต่งคลินิกด้วยตัวการ์ตูน และมีมุมของเล่น แม้แต่ชื่อคลินิกก็ควรจะอ่านทีเดียวแล้วรู้เลยว่าเป็นคลินิกสำหรับเด็ก ภาพลักษณ์เช่นนี้จึงสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรงลูกค้าที่ต้องการพาลูกมารักษาย่อมเลือกที่จะมาคลินิกดังกล่าวมากกว่าไปคลินิกที่ไม่มีภาพลักษณ์ของความเป็นเด็กที่ชัดเจน

3. ทุกแห่งย่อมมีคลินิกในละแวกที่ใกล้เคียงกันหลายแห่ง เราจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความแตกต่าง ความแตกต่างก็ตั้งแต่การตั้งชื่อที่ไม่ควรคล้ายกันเพื่อป้องกันการสับสน การทำตราสัญลักษณ์ที่โดดเด่นและจดจำง่าย ไม่ซ้ำหรือโหล การทีสีตัวตึกให้ไม่เหมือนตึกข้างเคียง ยังรวมไปถึงการทำเวปไซด์ การปัก Google Map และการทำเพจเฟสบุ้ค เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการค้นหา นี่ก็คือการทำการตลาด

4. ลูกค้าที่มาทำฟัน เมื่อทำเสร็จย่อมต้องมีการ Follow up การติดตามลูกค้าหลังการทำฟัน การแจ้งย้ำเตือนว่าครบรอบการมาตรวจฟันขูดหินปูน พร้อมกับสามารถแจ้งโปรโมชั่นพิเศษตามเทศกาล ก็นับเป็นการตลาด

5. การเทรนนิ้งลูกน้อง โดยเฉพาะเคาเตอร์ ให้สามารถตอบคำถามต่างๆแทนหมอได้ รวมไปถึงการเสอนสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้คนไข้ตัดสินใจง่ายขึ้น เช่น เลือกครอบฟันแบบไหนดี การจัดฟันมีเทคนิคกี่แบบและราคาเท่าใด แนะนำการแปรงฟันที่ถูกวิธี ทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจจากการถ่ายทอดข้อมูลอย่างเต็มที่ เต็วเวลา ก็การตลาด

6. การมีสื่อต่างๆ ให้ความรู้เรื่องฟัน อาจจะเป็นวิชาการหรือแนะนำการบริการ ในลักษณะแผ่นผับ ใบปลิว คลิปวีดิโอ เป็นต้น

7. การสร้างมิตรกับเพื่อนบ้าน หรือ ธุรกิจที่ใกล้เคียง หรือ การที่หมอแจกนามบัตรแนะนำตัวเวลาพบเจอผู้คน

8. การจับกลุ่มร่วมกับคลินิกในละแวกไปทำบุญร่วมกันหรือทำกิจกรรมเพื่อนสังคม เช่น วัน บ้านเด็กกำพร้า ก็นับว่าเป็นการตลาด

จะว่าไปแล้ว การตลาดคือการทำให้คนที่เราอยากให้เป็นลูกค้ารู้จักและเกิดความสนใจอยากซื้อขายสินค้าและบริการ ถ้าผู้ขายสามารถทำตัวตนให้ชัดเจนว่าสินค้าและบริการคืออะไร และสามารถเชื่อมโยงถึงผู้บริโภคได้ด้วยการสื่อสารในรูปแบบต่างๆอย่างชัดเจน ย่อมเกิดการซื้อขายสินค้าและบริการ

การลดราคา การทำโปรโมชั่น จึงเป็นเพียงส่วนเล็กๆ (ซับเซ็ต) ของการตลาดทั้งหมดเท่านั้น

การลดราคาหรือการจัดโปรโมชั่นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และเป็นวิธีทางการตลาดที่มีประสิทธิ์ภาพอย่างหนึ่ง แต่เราควรจะเรียนรู้เพิ่มเติมว่าจริงๆแล้วยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากกว่า


2.ทำฟันดีให้ดีก็พอ แล้วจะปากต่อปากเอง

 

การเปิดคลินิกทันตกรรมในสมัยก่อน ประโยคนี้เป็นความจริงอย่างปฎิเสธไม่ได้

เพราะ

1.คลินิกยังไม่เยอะ คนไข้ไม่มีตัวเลือกมากนัก

2.ความต้องการรับการรักษาสูง เพราะจำนวนหมอฟันมีน้อยมากๆ
เพราะฉะนั้นในยุคก่อนๆ จึงเน้นอาศัยปากต่อปาก ก็จะเกิดการบอกต่ออัตโนมัติ นานเข้ามีลูกค้าประจำมากขึ้น คลินิกทันตกรรมก็อยู่ได้ด้วยการมีฐานของลูกค้าที่ค่อยๆสร้างจากการทำฟันให้ดี เป็นเคสๆไป

บางจังหวัดหรืออำเภอขนาดเล็ก ถ้ามีคลินิกทำฟันแห่งเดียวย่อมนับว่าแทบจะผูกขาดเลย

แต่ ณ วันนี้สภาพแวดล้อมและสังคมได้เปลี่ยนไปมาก

1.หมอฟันจบปีหลายหลายร้อยคน

2.รัฐ เริ่มเกิดสภาวะไม่มีตำแหน่งเพียงพอ เกิดการไหล่บ่าออกสู่เอกชน

3.คลินิกมีมากขึ้นมากและหมอหลายท่านมีมากกว่า 1 คลินิก

หมอทุกคน เวลาทำฟันให้คนไข้ ทุกคนย่อมอยากทำฟันและบริการให้ดีที่สุด เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวในฐานะหมอที่จะผูกใจคนไข้ให้เกิดความประทับใจ และอยากมาซ้ำและบอกต่อ

ถ้าหมอฟันทุกคนทำฟันดีเหมือนกันหมด…………คนไข้จะเลือกไปรักษาคลินิกไหนละ ?

ในวันนี้ ลูกค้า หรือ คนไข้มีตัวเลือกเยอะแยะเต็มไปหมด (ผมไม่เคยเจอใครบ่นว่าคลินิกน้อย) แค่ทำฟันให้ดีย่อมไม่เพียงพอที่จะสร้างฐานลูกค้าอีกต่อไป

ในด้านความสามารถ มีหมอจะโพสแกต ป.โท บอร์ด เมืองนอกและหลักสูตรต่างๆเต็มไปหมด ส่วนใหญ่ในการทำงานบนเส้นทางหมอฟันถึงจุดหนึ่ง หมอๆก็ล้วนจะเก่งขึ้นทั้งนั้น (ถ้าไม่ทิ้งการติดตามความรู้วิชาการและการฝึกปฎิบัติ)

นอกจากการทำฟันดี ปัจจัยที่ทำให้คนไข้อยากเลือกสถานบริการย่อมมีอีกหลายปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้การทำฟัน

1.การเดินทางที่สะดวก สบาย ประหยัดเวลา

2.การรักษาที่เร็ว ไม่เจ็บ และได้ดังที่ต้องการ

3.การบริการที่ดี

4.ความมั่นใจและการเป็นที่รู้จักคุ้นเคย เช่น ชื่อเสียงและแบรนด์

5.ราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่า

6.การเป็นอันดับหนึ่ง และความเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์

เป็นต้น

การแข่งขันในวงการทันตกรรมเอกชนยุคนี้และยุคต่อๆไป ย่อมไม่พ้นศึกแดงเดือด การแข่งขันยังไงก้ย่อมสูงขึ้นและรุนแรงมากขึ้น การพัฒนาทุกส่วนบริการให้ดีขึ้นย่อมเป็นทางรอด เพราะผมก็เชื่อว่าคลินิกดั้งเดิมหลายแห่งที่เคยทำยอดได้อย่างงามกับการทำฟันให้ดี…..ตอนนี้ก็เจอผลกระทบจากการโดนคลินิกน้องใหม่แย่งส่วนแบ่งตลาด

สรุป

“การทำฟันให้ดีแล้วจะประสบความสำเร็จเองจากปากต่อปาก” จึงไม่ใช่เส้นทางที่จะเดินตามได้ในยุคนี้และยุคต่อๆไปอีกแล้ว


3 คลินิกทันตกรรมเอกชน ไม่ควรเป็นธุรกิจ (เกินไป)

คลินิกเอกชน จะไม่เหมือนโรงพยาบาลรัฐที่สามารถขาดทุนได้ หรือ มีเงินจากภาษีมาอุดหนุน

ในมุมของการรักษา คลินิกเอกชนก็ไม่ต่างจากโรงพยาบาลรัฐที่ต้องให้บริการตามหลักการแพทย์ทุกประการ

แต่ในแง่งมุมของการบริหารการเงิน คลินิกจะต้องบริหารให้มีกำไร ไม่ขาดทุน

เดือนๆหนึ่ง คุณมีค่าใช้จ่ายรอเรียบร้อยไม่ว่าจะเป็น

ค่าเช่าที่

ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์

ค่าจ้างพนักงาน

สารพัด

เพราะฉะนั้น ภาระหน้าที่ของคุณจึงไม่ใช่แค่การทำฟันให้ดีที่สุด แต่ต้องทำธุรกิจให้อยู่รอดด้วย สามารถสร้างรายรับให้เกินรายจ่าย และบริหารให้มีสภาพคล่อง

อคติที่ว่าหมอทำฟันเพื่อเงินนั้นในแง่มุมนี้จึงถูกต้อง คลินิกทำฟันเพื่อทำเงิน เพราะเงินนั้นแหละที่จะทำให้ธุรกิจและคลินิกอยู่รอด ถ้าเจ๊งจะเอาอะไรกิน ?

แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้อง “ทำทุกอย่างเพื่อเงิน” มันยังมีเรื่องของศิลธรรมและจริยธรรมด้วย


4.ธุรกิจและการตลาด ทำลายจรรยาบรรณและจริยธรรมอันดีของทันตแพทย์

7 ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการทำการตลาด สำหรับคลินิกทันตกรรม (4)

ผมเคยลงเกี่ยวกับจรรยาบรรณมาหลายรอบ และก็ยังคงเป้นหนึ่งในเรื่องที่หมอฟันในวงการเราเข้าใจผิดถึงตอนนี้ ตาม link ครับผม

ส่วนผสมของคลินิกทันตกรรมที่ยั่งยืน-จรรยาบรรณทันตแพทย์-ความพึงพอใจ-และการดำเนินงานให้เกิดกำไร


5.เปิดคลินิก ยังไงก็ไม่เจ๊ง

 

เปิดคลินิกเถอะ ยังไงก็ไม่เจ๊ง

คำว่าเจ๊ง ในทางธุรกิจเราแปลว่าอะไร ?

การดำเนินธุรกิจ ถ้าพูดถึงเงินๆทองๆ ก็ไม่พ้นกำไร ขาดทุน และเท่าทุน แบบไหนที่เรียกว่าเจ๊ง ??

ขาดทุน อาจจะไม่ได้แปลว่าเจ๊ง นะครับ

สมมุติ ผมมีธุรกิจบ้านเช่า ผมมีทุนที่ต้องผ่อนส่งธนาคารเดือนละ 1 หมื่นบาท แต่ผมเก็บค่าเช่าได้เพียงแค่ 8 พันบาท สรุปในหนึ่งเดือนผมขาดทุน 2 พันบาท

แปลว่าผมยังขาดส่งเงินให้กับธนาคารอีก 2 พันบาท ผมก็ “ควักเนื้อ” โดยอาจจะเอาเงินเดือน หรือ ยืมญาติมิตรมาโป๊ะที่ขาดทุน 2 พันเพื่อส่งธนาคาร

ในทางกลับกัน ถ้าผมไม่สามารถหาเงิน 2 พันบาทได้เลย ไม่นานธนาคารก็คงไล่บี้แล้วทำเรื่องยึดทรัพย์สินผมเพื่อขายบ้านเพื่อเอาเงินของเขาคืน

จากโจทย์นี้ แม้ว่าผมจะ “ขาดทุน” ในการปล่อยเช่าบ้าน แต่การที่ผมมีเงินหมุนเวียนมาโป๊ะอยู่เรื่อยๆ เรียกว่าผมมี “สภาพคล่อง” จะได้เงินมาจากส่วนไหนไม่รู้แหละ ตราบใดที่ผมยังมีปัญญาบริหารสภาพคล่อง กิจการปล่อยบ้านเช่าของผมก็จะยังดำเนินได้เรื่อยๆ

สรุป ธุรกิจทุกอย่างในโลกนี้ ที่ยังเดินหน้าไปได้ โจทย์คือต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงิน

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ๆหลายบริษัทก็มีขาดทุน บางแห่งขาดทุนระดับหลายพัน หลายหมื่นล้าน แต่ยังดำเนินธุรกิจและทำมาค้าขายได้ก็เพราะยังมีสภาพคล่องนั่นเอง


ถ้าในกรณีคลินิกทันตกรรม โดยมากเจ้าของคลินิกจะทำงานสองลักษณะ

1.เป็นเจ้าของที่เป็นมือปืนในคลินิกตัวเอง อาจจะทำมากทำน้อยก็แล้วแต่ (บริหาร+ทำฟัน)

2.และเป็นเจ้าของที่บริหารอย่างเดียว แต่ไม่ทำฟันเลย
ในกรณีที่ 1 เมื่อทำบัญชีสิ้นเดือน สมมุติว่า “ขาดทุน” เจ้าของก็จะต้องเอาค่าแรงของตัวเอง มาโป๊ะส่วนที่ขาดทุน
เช่น สมมุตว่าขาดทุน 4 หมื่น แต่ตัวเองมีค่าแรงที่แบ่งมาจากการทำฟันอยู่ 2 แสน สุดท้ายตัวเองจะเหลือเงินเข้ากระเป๋าแค่ 1.6 แสน
แต่ถ้าหมอเป็นมือปืนอย่างเดียว (ไม่ใช่เจ้าของ) จะได้ครบทั้ง 2 แสน เพราะไม่ต้อง “ควักเนื้อ” มาโป๊ะส่วนที่ขาดทุนของคลินิก เพราะฉะนั้นในกรณีที่คลินิกขาดทุนทางบัญชี คนที่ชนะเลิศคือลูกจ้างทั้งผู้ช่วยและหมอมือปืน เนื่องจากเขาไม่ต้องรับผิดชอบกับการขาดทุนของคลินิก

ในกรณีที่ 2 ถ้าเจ้าของไม่ทำฟันเลย แต่เกิดเหตุการณ์ขาดทุน 4 หมื่น เหมือนที่เล่ามา อันนี้เริ่มลำบากแล้ว…… จะเอาเงินจากไหนมาโป๊ะละ ??

อาจจะต้อง “ควักเงิน” ของคนในครอบครัว ถอนเงินเก็บสะสม หรือ กู้หนี้ยืมสินมาโป๊ะเจ้าส่วนนี้

ผมเคยคุยกับเจ้าของร้านทำฟันแห่งหนึ่งในย่านดอนเมือง เขารับสืบทอดต่อกิจการคลินิกทำฟันจากคุณอาที่เป็นหมอฟัน (แก่แล้ว) โดยที่เจ้าตัวไม่ใช่หมอฟัน
แต่เจ้าตัวอาศัยการหาหมอมือปืนในเวป work4dent มาเป็นมือปืน ส่วนตัวเองก็ทำงานเป็นเคาเตอร์ ผู้ช่วย และบริหารทุกอย่าง เขาก็พยายามสู้ทุกอย่างแต่สุดท้ายก็ขาดทุน เพราะคนไข้ก็ไม่เยอะ ค่าจ้างหมอก็แพงถ้าประกันน้อยก็ไม่ยอมมา นานเข้าก็เริ่มขาดทุน ไหนจะต้องซื้อวัสดุด้วย สุดท้ายก็ต้องเซ๊งกิจการทิ้งเพราะไม่สามารถทนขาดทุนได้ ยิ่งเปิดยิ่งเข้าเนื้อ

สรุป

จะเห็นได้ว่า ถ้าเมื่อใดคลินิกบริหารแล้วประสบสภาวะขาดทุน นั่นย่อมต้องมีการ “โปะ” หรือ “ควักเนื้อ” คลินิกย่อมไม่มีวันเจ๊งถ้าสามารถหาเงินมาทดแทนส่วนที่ขาดทุน

แต่ถ้าตัวเจ้าของกิจการไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะรักษาสภาพคล่อง หรือขาดทุนเป็นจำนวนหลายแสนในระยะเวลานาน อาจจะต้องตัดสินใจ “ปิดกิจการ” หรือที่เราเรียกกันว่า “เจ๊ง” นั่นเอง


6.หมอทุกคนเหมาะเป็นเจ้าของคลินิก

 

 

ในสายเอกชน หลักๆคุณหมอก็คงมีทางเลือกในการประกอบวิชาชีพไม่มากนัก

ถ้าไม่เป็นนผู้บริหาร หรือเจ้าของคลินิก ก็ต้องเป็นมือปืน

ผมเชื่อว่าหมอมือปืนหลายท่านก็ไม่ได้มีความฝันหยุดอยู่ที่การเป็นมือปืน และมีแผนที่จะมีคลินิกของตัวเอง อยากบริหารคลินิก

ทั้งนี้ มันมีความแตกต่างของภาระงานและความรับผิดชอบมากมาย ระหว่างการเป็นผู้บริหารคลินิก และมือปืน

ในส่วนของมือปืนความรับผิดชอบจะมีหลักๆสองส่วน คือรับผิดชอบตัวเอง และรับผิดชอบคนไข้

รับผิดชอบตัวเอง คือการปฎิบัติตัวตามกฎและระเบียบแบบแผนที่คลินิกกำหนด เช่นเวลาทำงาน ภาระงาน ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีมกับคนในองค์กร

รับผิดชอบในฐานะวิชาชีพคือการทำฟัน คือจรรยาบรรณ การให้เกียรติแก่ผู้มารับบริการ และให้การรักษาที่ดีที่สุดตามความสามารถ พร้อมกับพัฒนาความสามารถในการทำฟันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ


ถ้าเป็นเจ้าของคลินิกละ ?

คุณต้องบริหารลูกน้องให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

บริหารการเงินอย่างเหมาะสม ดำเนินการให้มีกำไร

ควบคุมคุณภาพการบริการทุกจุด เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความประทับใจอย่างสูงที่สุด

จัดอบรมและสอนงาน เพื่อพัฒนาความสามารถในการทำงาน ทั้งเวชระเบียน ผู้ช่วย และหมอ

ทำการตลาดอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ โดยเฉพาะในยุคที่เต็มไปด้วยคลินิกเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง

และต้องเป็นที่พึ่งของคลินิกในยามที่มีปัญหา เพราะเราคือเจ้าของ คือคนแรกที่ลูกน้องทุกคนจะวิ่งมาหาเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา ม่าจะเป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆ เช่น น้ำไม่ไหล ไฟดับ ไม่จนถึงปัญหาใหญ่ๆ แบบ ลูกน้องทะเลาะกัน คนไข้ขู่ฟ้อง เป็นต้น

ทักษะการเป็นเจ้าของคลินิกจึงต้องมีหลากหลายมากมายกว่าการเป็นมือปืนยิ่งนัก เป็นชีวิตการทำงานที่ต้องรับผิดชอบมากมายหลายเท่ายิ่งกว่ามือปืน เพราะเกี่ยวโยงกับความอยู่รอดของคลินิกและความเป็นอยู่ของทีมงาน

บางทีเราอาจจะต้องตระหนัก ว่าเรามีความเหมาะสมแล้วหรือยังที่พร้อมจะเข้ามารับผิดชอบกับการเป็นผู้นำของคลินิก หรือที่เราเรียกว่า Leader

ไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะเป็น leader

ถ้าฝืนทำก็อาจไม่ประสบความสำเร็จและไม่มีความสุข มีหมอหลายท่านเปิดคลินิกและปิดไปเพราะเครียดและไม่สามารถรับภาระต่างๆได้ และตัดสินใจเลือกเส้นทางการเป็นมือปืนที่มีความเครียดและกดดันน้อยกว่า

บางที การเลือกอะไรที่เหมาะกับเรา และทำในสิ่งนั้นให้ดี อาจจะดีกว่าฝืนทำในสิ่งที่ไม่เหมาะกับตัวเอง

แต่สำหรับคนที่ยังมีไฟและคิดว่าจะพัฒนาตนเองให้มี Leadership ขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่วิเศษ ก็อยากส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้


7.เปิดคลินิกเล็กๆ ลงทุนน้อยๆ ก็พอ……..เผื่อเจ๊ง

ทุกคนที่เปิดคลินิกเป็นครั้งแรก ย่อม “พก” ความไม่มั่นใจมาด้วยทุกคน

จะไปรอดไหมน้า…

จะมีคนไข้ไหมน้า

จะสู้เขาไหวไหมน้า

เป็นกันทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผมครับ

การทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงเสมอ หนทางหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงที่หลายๆท่านใช้ คือการ “จำกัดการลงทุน”

หรือลงทุนแบบประหยัด โดยมีความคิด

“ถ้าเจ๊ง อย่งาน้อยก็ไม่เจ็บตัวมาก (วะ)”

เช่น

ใช้วัสดุและอุปกรณ์มือสอง

เฟอนิเจอร์ถูกๆ เช่น เก้าอี้กลมพลาสติก

ตกแต่งง่ายๆ บ้านๆ ทาสีด้วยตัวเอง

ไม่ตกแต่งภายในมาก เพราะไม่อยากลงทุนเยอะ เน้นการเอาเฟอร์นิเจอร์มาวางๆ

ข้าวของเครื่องใช้ถูกๆ แอร์มือสอง ทีวียี่ห้อจีนๆโนเนม  บางคนประหยัดหนักขนาดไปล่าเอาจากร้านมือสอง หรือของเก่าเก็บที่บ้าน

 

มันไม่ผิดนะครับ ที่เราจะเลือกลงทุนอย่างประหยัด

 

แต่จะแข่งกับคลินิกคนอื่นๆ ได้หรือเปล่าละ ??

 

ถ้าเราเป็นคนไข้  เราอยากไปใช้บริการคลินิกที่เปิดแบบเผื่อเจ๊งไหมครับ ??  คนไข้เขาจะรู้สึกอย่างไร ที่เข้าคลินิกเปิดใหม่ แต่ทุกอย่างเก่า แล้วดูไม่เหมือนใหม่ ?

คนไข้เขาจะอยากมารับบริการที่ๆเปิดแบบไม่มีความมั่นใจ ว่าจะรุ่ง เจ๊ง หรือเจ๊า พร้อมจะถอนตัวทันทีถ้าสถานการณ์ไม่ดี (โกยเถอะโยม) หรือจริงๆแล้วคนไข้อยากไปคลินิกที่ตกแต่งดีหน่อย แล้วหมอจะเปิดคลินิกไปนานๆ ดูแลเขาไปนานๆ ไม่ทิ้งกันไปไหน

 

มันรวมไปถึงคนในองค์กรด้วยนะครับ

ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่คงมาทำงานแบบไม่มีความสุข ถ้าหมอพร้อมจะทิ้งคลินิกถ้าเจ๊ง หรือไปไม่ได้ เพราะเขาก็ย่อมต้องตกงาน

ไปเป็นลูกจ้างในคลินิกที่มีความมั่นคงดีกว่าไหม ??

 

ส่วนตัวผมว่า ถ้าถึงขั้นจะเปิดคลินิกแล้ว อยากให้เปิดแบบมีความมั่นใจ มันดีกว่าเปิดเผื่อเจ๊งมากมาย

ถ้ามีงบลงทุนไม่เยอะ ก็พยายามออกแบบให้สามารถลงทุนแบบไม่สูงมาก แต่ออกมาดูดี ก็เป็นสิ่งที่ทำได้

และคีย์ที่จะทำให้คลินิกไปได้คือการตลาด ต้องทุ่มเทกับการทำการตลาดและสร้าง Value ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจจะได้เจ๊งเหมือนที่เคยวางแผนไว้

 

ในยุคนี้ คลินิกนั้นเยอะแยะเต็มไปหมด หลายคนมีเงินทุนจากที่บ้าน สามารถลงทุนได้หลายล้าน ในมุมมองผม คลินิกที่ “เปิดแบบเผื่อเจ๊ง” จะไม่สามารถอยู่รอดได้ในสนามการแข่งขันของคลินิกทันตกรรม เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะแข่นขันกับชาวบ้านได้ นอกจากเสียว่าจะเปิดเป็นคลินิกระดับล่าง เน้นเก็บค่าบริการในระดับต่ำๆจับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยมีคู่แข่งคือโรงพยาบาลรัฐ

 

ความเสี่ยงในการลงทุนเปิดคลินิกทันตกรรมมันสามารถจัดการได้

1.หาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอ อย่าใช้เงินแบ้งค์ล้วนๆ ต้องนึกถึงตอนผ่อนด้วย

2.ถ้าทุนน้อย คำนึงถึงการเปิดแบบระมัดระวัง ควบคุมการใช้จ่าย ทั้งนี้ บางอย่างที่จำเป็นต้องลงทุนก็ต้องยอมจ่าย

3.ตั้งใจศึกษาการตลาดและการบริหารให้ลึกหน่อย บางทีมันก็ย้อนแย้งนะครับ เพื่อให้ทำฟันเป็นเราลงทุนเรียนไม่ต่ำกส่า 6 ปี เรายังรู้สึกไม่พอต้องเรียนต่อและเท็คคอร์ส แต่เพื่อให้ดำเนินธุรกิจเป็น เรากลับไม่ค่อยทุ่มเท หรือให้เวลาในการหาความรู้อย่างเต็มที่

4.วางแผนให้ดี และใจเย็น อย่าดันทุรังเปิดคลินิกทั้งๆที่ยังไม่มีความพร้อม เปิดช้าหน่อยแต่ปังดีกว่าเปิดดังๆตอนยังอ่อนแล้วเจ๊ง

5.การเพิ่ม Value ได้แบบไม่ใช้เงินมีมากมายหลายท่าน โดยเฉพาะการบริการที่ใช้เงินน้อยมาก

 


ยินดีตอบทุกคำถาม และแลกเปลี่ยนทุกความเห็นครับ

  • Share

0 Comments

Leave a comment

Your email address will not be published.