การทำเพจบนเฟสบุ้คเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมหรือไม่
มีทันตแพทย์หลายท่านเข้ามาหลังไมค์และส่งคำถามมาว่า สำหรับคลินิกทันตกรรมนั้น มันเหมาะสมจริงๆ หรือ ?
ผมเข้าใจว่าหลายท่าน ค่อนข้างกังวลว่าสิ่งที่ตนทำนั้น (การสร้างเพจของคลินิกทันตกรรม) จะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดในแง่ของจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ ?
ก่อนที่จะไปพูดเรื่องเฟสบุ้ค เรามาพูดกันเรื่อง “จรรยาบรรณ” กันสักหน่อย
ในแง่การดำเนินธุรกิจคลินิกทันตกรรม ในฐานะทันตแพทย์วิชาชีพ จุดที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ “การโฆษณา”
แบบใดถือว่าโฆษณา ? แบบไหนไม่ถือว่าโฆษณา ?
ต้องยอมว่าบางกิจกรรมอาจจะเป็นเส้นบางๆที่ข้ามไปมาได้จากการตีความ ทั้งนี้ไม่ว่าอย่างไร จุดมุ่งหมายของระเบียบและข้อบังคับมีเจตนาสำคัญคือ การ “รักษาผลประโยชน์ของคนไข้” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน
สิ่งใดๆก็ตามที่จะทำให้คนไข้เสียผลประโยชน์ จะถือว่าไม่เหมาะสมทั้งสิ้น
ขอยกตัวอย่าง
การขึ้นป้ายขนาดใหญ่หน้าคลินิกว่า “หมอ XXX จัดฟันเก่งที่สุดในประเทศไทย”
อันนี้ย่อมไม่เหมาะสม เข้าข่ายคุยโม้โอ้อวดว่าเก่งที่สุดวงการทันตกรรมก็ไม่เคยมีจัดประกวดหรือแข่งขันอะไรประเภทหมอเก่งที่สุดอะไรแบบนี้ เจตนาจึงบ่งชี้ว่าพยายามใช้คำพูดสร้างภาพให้ตัวเองดูดีและชักจูงล่อลวงคนไข้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง (หมอ)
จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับการ “โกหก”
สรุปคือการกระทำใดๆ หรือการสื่อสารใดๆ ที่จะทำให้คนไข้เกิด ความเข้าใจผิด หรือเสียผลประโยชน์ (เช่นตัวอย่างที่ว่าเป็นหมอที่เก่งที่สุด) ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในแง่ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
กลับมาพูดถึง “เพจ” เฟสบุ้คกันบ้าง
เพจของคลินิกทันตกรรม ถ้าคุณไปโพสข้อความว่า “คลินิกนี้มีหมอที่เก่งที่สุดในประเทศไทย” อันนี้ก็ย่อมผิดดังที่กล่าวมาข้างต้น
เพจ (Facebook Page) ตัวมันเองไม่มีความอะไรผิดครับ มันเป็นแค่ช่องทางการสื่อสาร ผิดไม่ผิดอยู่ที่เจตนาและการเอาไปใช้ โดยเฉพาะพิจารณาที่ผลที่ตามมาว่าคนไข้ “ได้หรือเสียผลประโยชน์”
แล้วการใช้เพจอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นอย่างไรละ ??
มาเลย….ผมขอยกตัวอย่างการใช้เพจในสร้างประโยชน์แก่คนไข้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะได้เห็นภาพและนำไปประยุกต์ใช้อย่างชัดเจน
1.การบอกเส้นทางการเดินทาง
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็น “คนไข้ใหม่” มักจะมีปัญหาในการเดินทาง โดยเฉพาะคลินิกที่อยู่ในซอยลึกๆที่คนไข้ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยผ่านเส้นทางนั้นมาก่อน ปัญหาที่พบบ่อยคือคนไข้หาคลินิกไม่เจอ….. บางทีไปผิดคลินิกกันเลยทีเดียว
ถ้าเพจมีรายละเอียดเพื่อช่วยเหลือคนไข้ เช่น เส้นทางการเดินทาง การแนะนำว่ามาถึงแล้วจอดรถตรงไหนได้บ้าง หรือมี Google Map ให้คนไข้ได้กดหาและนำทาง (Nevigation) เพื่อจะได้มาคลินิกได้ถูกต้องย่อมเป็นประโยชน์กับคนไข้อย่างมาก
2. การชี้แจงรายละเอียดของบริการ
คลินิกนี้มีบริการอะไรบ้าง การบอกให้คนไข้ทราบถือว่าจำเป็น
บางคลินิกไม่เน้นทำฟันเด็ก
บางคลินิก ไม่จัดฟัน
อะไรแบบนี้
สมมุติคนไข้หวังจากมาทำรากฟันเทียม แต่พอมาถึงคลินิกปรากฎว่าเราไม่มีบริการทางด้านนี้ คนไข้คงเซ็งหน้าดู เสียเวลา เสียความรู้สึก แต่ถ้ามีช่องทางให้เขารับทราบก่อนแล้วสามารถลดการเกิดเหตุการณ์นี้ได้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี
3.การให้ความรู้
หมอฟันทุกคนมีหน้าที่ให้ความรู้ในแง่สุขภาพช่องปากแก่คนไข้ทุกคน บทบาทหน้าที่นี้เป็นของหมอฟันทุกคนอย่างไม่สามารถปฎิเสธได้ เช่น การสอนการแปรงฟันที่ถูกต้อง OHI การตอบคำถามคนไข้สำหรับข้อสงสัยต่างๆ เช่น งานจัดฟัน รากฟันเทียม รักษารากฟัน ถอนฟัน ผ่าฟัน โรคต่างๆในช่องปาก ฯลฯ
ความรู้และข้อสงสัยด้านทันตกรรมและสุขภาพช่องปาก ถ้าไม่ใช่หมอฟันเป็นคนทำหน้าที่นี้ แล้วจะให้ใครทำ ?
เพราะฉะนั้นการให้ความรู้ทางทันตกรรมและสุขภาพอย่างถูกต้องเป็นหน้าที่ของหมอฟันทุกคน ในความเห็นของผม เราทุกคนต้องร่วมมีบทบาททางด้านวิชาการและรับผิดชอบต่อคนในสังคมในฐานะผู้ประกอบการวิชาชีพทันตกรรม
4.การแนะนำบุคลากรของคลินิก
บางที คนไข้ก็อยากรู้ว่าหมอที่ร้านชื่ออะไรบ้าง เป็นใครที่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร จบที่ไหนและมีวุฒิใดบ้าง โดยเฉพาะคลินิกมีหมอใหม่ๆมาลงตรวจแล้วยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไข้ การแนะนำหมอว่าคลินิกนี้มีใครบ้างย่อมทำให้คนไข้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น
อย่าลืมว่าคนไข้มีสิทธิ์เลือกหมอ และเขาย่อมอยากได้ในแบบที่เขาต้องการ บางคนอยากทำกับหมอผู้หญิงอ่อนโยน บางคนชอบหมออายุเยอะๆยิ่งแก่ยิ่งดี บางคนชอบหมอวัยรุ่นเพราะคุยสนุกเป็นกันเอง เป็นต้น
5.เสนอข่าวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคลินิก
ข่าวที่เกี่ยวข้องกับคลินิก เช่น ประกาศวันหยุดของคลินิก ปีใหม่ สงกรานต์ วันแม่ วันพ่อ หรือคุณหมอที่ลงตรวจประจำเกิดจำเป็นต้องขอลากระทันหัน เป็นต้น
เหตุการณ์พิเศษที่เร่งด่วน เช่น การประปางดจ่ายน้ำสามวัน ทำให้คลินิกต้องปิดใหบริการกระทันหัน มีการซ่อมถนนใกล้กับเส้นทางที่จะเดินทางมาที่คลินิกก็เลยโพสประกาศเพื่อแนะนำเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสม เป็นต้น
กิจกรรมบางกิจกรรม เราอาจจะประกาศหรือแชร์ในเฟสบุ้คเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้คนในองค์กรและผู้ที่มาเยี่ยมชม เช่น จัดกิจกรรมตรวจฟันฟรี ออกหน่วย หรือทำบุญ หรือการแสดงความยินดี เฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษ เช่น บอลไทยได้ไปบอลโลก วอลเล่ย์หญิงชนะเลิศ วันครบรอบของคนสำคัญหรือวันสำคัญ หรือแม้แต่ครบรอบวันก่อตั้งคลินิกเป็นต้น
6.การแชร์ หรือ นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนไข้
เช่น ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน เป็นช่วงหน้าฝนที่มียุงชุม และบางปีจะมีโรคระบาด เช่น ไข้เลือดออก หรือแม้แต่ซิกก้าที่เฝ้าระวังกันอยู่ ณ ตอนนี้ การที่คลินิกค้นหาบทความหรือโพสแชร์ที่เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาแสดงในเพจ
หรือบางช่วงมีการเตือนให้ระวังเพราะมีเคสเด็กหลับในรถตู้แล้วโดนทิ้งไว้จนโดนอบตาย เราอาจจะแชร์บทความที่แนะนำการสอนบุตรหลานให้เอาตัวรอดจากเหตุการณ์ติดอยู่ในรถ
การแชร์สิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นการแบ่งปันความรู้และตามเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจ
ลักษณะการทำเพจที่กล่าวมา ผิดจรรยาบรรณไหม ?
ผมว่าทุกท่านที่สงสัยคงได้คำตอบและเห็นภาพมากขึ้นเนอะ
รูปแบบการทำเพจ ผมว่ามันเป็นศิลปะ บางคลินิกอาจจะเน้นอย่างอื่นนอกจากทันตกรรมก็ได้ อย่าเพจของหมอเคนที่ผมเคยกล่าวไปก็ถือว่าแปลกแหวกแนวและที่สำคัญคนไข้ก็ชอบเอามากๆ เคส Study ของหมอเคน ปรากฎการณ์ที่แปลกใหม่ในวงการทันตกรรม
ถ้าทำเพจแล้วนึกอะไรไม่ออก อย่างน้อยขอเพียงแค่คิดในใจว่าคนไข้ต้องได้ประโยชน์ เท่านั้นเองแหละครับ
สรุป
เพจ และสื่อ Social media ต่างๆ จะเกิดประโยชน์ถ้าเราเลือกใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม
สำหรับท่านที่สงสัยว่ามันถูก หรือ ผิดจริยธรรม อ่านมาถึงบรรทัดนี้ผมเชื่อว่าหลายคนคงหมดคำถามและเข้าใจหลักการมากขึ้นนะครับ
หรือถ้าท่านใดยังติดใจสงสัย ก็โพสถาม หรือ อีเมล ได้นะครับ
0 Comments