7 แนวคิดในการบริหารลูกน้องในคลินิกทันตกรรม

Posted on

การบริหารคนเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจทุกประเภท ผมสังเกตนักธุรกิจและหมอฟันหลายคนมุ่งแต่เล่นหุ้น และ อสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นแนวทางการลงทุนหรือทำธุรกิจที่ไม่ต้องคอยบริหารลูกน้อง เพราะรู้สึกเป็นเรื่องที่จุกจิกและแสนจะวุ่นวาย

ใช่ครับ จากประสบการณ์ของผมที่ได้คุยกับผู้ประกอบการ หรือ นักธุรกิจทั้งหลายก็ล้วนตอบเป็นเสียงเดียวกัน ว่าเรื่องคนนี่แหละ จุกจิก วุ่นวาย และแก้ยากที่สุด

ธุรกิจคลินิกทันตกรรมเป็นธุรกิจบริการที่ต้องใช้คนในการขับเคลื่อน ไม่ต่างจาก ร้านทำผม ร้านนวดสปา หรือ กายภาพบำบัด ถ้าปราศจากคนแล้วการบริการที่ดีก็ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะ key success ของธุรกิจบริการ คือการหาคนเจ๋งๆมาร่วมงานนั่นเอง


ถ้าคนมีคุณภาพ การบริการก็มีคุณภาพ

แต่คนไม่มีคุณภาพ การบริการก็ย่อมแย่ และลูกค้าไม่ประทับใจ

Key  ของธุรกิจนี้จึงอยู่ที่การหาคนที่เหมาะสมมาร่วมงาน  

หรือต้องมีความสามารถในการปั้นคนให้ตรงกับความต้องการนั่นเอง


บทความนี้เป็นผลพวงจากการไปอบรมของ บ. Solutier ต้องขอบพระคุณ อ.นพกฤษณ์ จันทิก อ.สาธิต ถัดทะพงษ์ และทีมงาน ที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ช่วยให้การบริหารจัดการคนในองค์กรของคลินิกของภรรยาผมพัฒนาขึ้น

บทความนี้ จึงรวบรวมแนวคิด 7 อย่างในการบริหารลูกน้องในคลินิก (จริงๆจะว่าไปแล้ว สามารถประยุกต์ได้ทุกธุรกิจบริการ)

1.รับคนผิด คลินิกมีสิทธิ์เจ๊ง

2.เอาเงินฟาดหัว แต่ตัวไม่ขยับ

3.อยากได้คนเก่ง หรือแค่ขี้เกียจสอน

4.ลูกจ้างมีปัญหา เป็นเพราะนายจ้างหรือเปล่า ?

5.แม่พิมพ์ประจำคลินิก

6.นายดีลูกน้องดี นายไม่ดีลูกน้อยก็อยากไม่ดีบ้าง

7.ความรักที่ทำลายองค์กร



1.รับคนผิด มีสิทธิ์เจ๊งทั้งคลินิก

เมื่อคุยกับเจ้าของคลินิกทันตกรรมหลายท่าน ก็มักจะได้รับคำบ่นเรื่องผู้ช่วยและเคาเตอร์บ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพการทำงาน การทะเลาะกัน เกี่ยงงานกัน และไม่สามัคคีกัน ฯลฯ อีกมากมาย

เจ้าของคลินิกหลายท่านรู้ตัว ว่าคลินิตัวเอง “มีตัวปัญหา” อยู่ในคลินิก แต่จู่ๆจะไล่ออกหรือเอาออกก็ไม่ได้


แล้วทำไมรับเขามาร่วมงาน ตั้งแต่แรก ?


ปัญหาเรื่องคนในองค์กร จุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆที่เกิด ที่ประสบพบเจอส่วนหนึ่งคือการรับคนที่ไม่เหมาะสมมาตั้งแต่ตอนแรก

เช่น

เอาคนไม่มีวินัย ไม่มีความเรียบร้อยเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ ทำให้ของหายบ่อย และข้าวของเครื่องใช้สกปรก วงไม่เป็นที่

เอาคนอารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด และไม่ยิ้มแย้มไปเป็นเคาเตอร์ ไล่แขกและคนไข้ใหม่ จนไม่มีเคสใหม่เข้าคลินิก

เอาสก๊อยที่พูดจากระโชกโฮกฮาก ไร้สัมมาคารวะ มาอยู่ในทีม ทำให้คนเก่าๆเอือมระอา อยากลาออกไปทำงานที่อื่น

เอาคนมีหนี้สินพะรุงพะรังมาร่วมงาน พอมาทำงานวันๆก็เอาแต่ยืมเงินคนในคลินิก มีเหตุการเงินหายบ่อยๆแต่จับมือใครดมไม่ได้

แล้วจริงไหม ที่ลูกน้องดีๆหลายคนลาออกเพราะทนทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานห่วยๆไม่ไหว อย่างงี้จะต้องหาคนใหม่มาเติมอีกกี่คน ? คนดีๆส่วนมากไม่ค่อยชอบทนทำงานร่วมกับคนที่ไม่ดี

ลูกน้องที่มีปัญหา ไม่ใช่แค่มีปัญหาเรื่องการทำงานเท่านั้น แต่อาจจะนำพาให้องค์กรทั้งองค์กรพังเลยทีเดียว

คนไม่ดี หรือไม่เหมาะสม 1 คน อาจจะทำให้คนดีๆอีก 5 คนลาออกได้


จริงหรือไม่…. ปัญหามันจะไม่เกิดหรือน้อยลงมาก ถ้ารับคนที่ดีกว่านี้มาทำงาน

ทำไมเราไม่คัดเลือกคนดีๆมาตั้งแต่ต้นละครับ ?  


การคัดเลือกคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้คนที่เหมาะสม ปัญหาจะน้อย และองค์กรจะมีแต่ความสุข คนดีๆอยู่ร่วมกันสังคมมันจะน่าอยู่ แต่ถ้ามีคนไร้คุณภาพมาปะปน ความน่าอยู่จะลดลงทันที

หลักการคัดคนอยากให้ระลึกดังนี้

  1. นิสัย มาก่อนความสามารถ    อย่าคิดแต่จะเอาที่มี skill หรือประสบการณ์มาร่วมงาน
  2. Attitude เป็นสิ่งสำคัญ skill ยังเป็นรองเพราะฝึกกันได้
  3. เขาอยากได้งานไหม ? สังเกตจากความกระตือรือล้นก่อนสัมภาษณ์และระหว่างสัมภาษณ์ จะได้แยกคนผู้สมัครประเภทตกงานแล้วแค่หาที่ทำงานทดแทน
  4. ก่อนรับมาทดลองดูงาน ให้เขามีโอกาสดูงานว่าเขาจะต้องพบและเจออะไรบ้าง ถ้าไม่ชอบจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาสอนงาน
  5. ทดลองงาน เป็นช่วงเวลาที่เราจะสอนงานและให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้จากงานพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นต้องจัดพี่เลี้ยงคอยประกบ อย่าให้เขาเคว้งและเรียนรู้งานด้วยตัวเองแบบไร้ทิศทาง
  6. ให้เขามีโอกาสเวียนทำงานหลายๆอย่าง เพื่อให้เขารู้ว่าเขาจะต้องเจอและทำอะไรบ้าง
  7. การประเมินผ่านโปรฯ ควรให้คนทุกคนมีส่วนร่วมในการพิจารณา ว่าอยากให้เขามาร่วมงานเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือไม่ เพราะมุมมองของเราคนเดียวอาจจะไม่พอ
  8. ใช้เวลาสองเดือนในการดูงานอย่างคุ้มค่าที่สุด อย่าปล่อยเวลาจนล่วงเลย
  9. ถ้าดูงานครบสองเดือน แล้วไม่เข้าตาต้องกล้าบอกว่าไม่ผ่านโปรฯ  อย่ารับเขามาเพียงเพราะเราขาดคน
  10. อย่ารับเพราะเพียงสงสาร เช่น จน ไม่มีเงิน ผัวทิ้ง ซิงเกิ้ลมัม เราอาจจะได้บุญที่ช่วยคน แต่เขาอาจจะเป็นปัญหาในอนาคตเพราะไม่เหมาะสมกับงาน
  11. ถ้าเขาเป็นคนเก่ง แต่นิสัยไม่ดี คนอื่นเกลียด อย่าคิดง่ายๆว่านิสัยเขาจะดีขึ้นในอนาคต ถามตัวเราเองว่านิสัยไม่ดีของตัวเรา เรามีปัญญาเปลี่ยนไหม ? แค่ตัวเราเองยังเปลี่ยนนิสัยเราเองยากเลย อย่าหวังล้มๆแล้งๆว่าจะมีปัญญาเปลี่ยนนิสัยใครได้ง่ายๆ
  12. ถ้าเขาไม่เหมาะกับงาน อย่าฝืนรับเขา มันเป็นการทำร้าย ให้เขามีโอกาสเลือกงานใหม่ที่เหมาะสมกับเขาดีกว่า
  13. ถ้าพนักงานในองค์กรไม่ได้เรื่อง ส่วนหนึ่งต้องถามตัวเราเองว่ารับเขามาได้ยังไง ??


 

2.เอาเงินฟาดหัว แต่ตัวไม่ขยับ

ใครที่มีลูกจ้าง ย่อมรู้สึกอยากให้เขาขยัน ทำงานดี มีวินัย ใจใส่ และรับผิดชอบ จริงไหมครับ

และในเวลาเดียวกัน ย่อมไม่อยากให้เขามาสาย หายบ่อย คอยให้สั่ง นั่งอู้ ไม่รู้หน้าที่ ไม่มีวินัย

 

มีแนวคิดที่จะจูงใจพนักงานให้เกิดความขยันมากขึ้น  โดยให้เงินเมื่อทำดี หรือ incentive (เงินพิเศษ)

คล้ายๆกับเวลา ร้านขายของต้องการกระตุ้นยอด ก็เลยให้ค่า commission แก่พนักงานถ้าขายได้มากขึ้น หรือทำได้ตามเป้า

ล้อม้าให้วิ่ง โดยการเอาแครอต ผูกกับเชือก ห้อยด้วยไม้ ล่อให้เขาเดิน หรือวิ่ง

พ่อแม่หลอกล่อลูกให้ขยันเรียน แลกกับรถบังคับวิทยุถ้าสอบได้เกรด 4

แล้วถ้าลูกมันไม่ได้อยากได้รถบังคับละ ?

 

ลูกจ้างย่อมมาทำงานเพราะ “เงิน” (คงไม่มีใครมาทำงานเป็นเดือนๆเป็นการกุศล) เพราะฉะนั้นเงินจะต้องมากพอที่จะตอบสนองพื้นฐานขั้นต่ำของ needs อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และในยุคนี้ต้องรวมไปถึงค่าเดินทางและค่ามือถือด้วย

แต่ใครจะพอใจกับเงินเดือนที่ “แค่พอกิน” ละ ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงาน-กิน-ตาย นินา

 


กรณีที่จ้างคนด้วยอัตราที่ต่ำกว่าค่าครองชีพ จึงไม่แปลกที่ลูกจ้างจะคิดถึงการหางานใหม่ตลอดเวลา

และพร้อมจะทิ้งทันทีเมื่อได้ค่าจ้างมากกว่า


ทั้งนี้ ทุกคนในโลกนี้หวังจะมีเงินมากกว่าการ”ประทังชีวิต” มันควรจะเงินเกินมาเพื่อให้เขาสามารถใช้จ่ายได้ตามใจชอบบ้าง

เหลือเก็บส่งให้พ่อแม่

กันไว้สำหรับกินดื่มสังสรรค์กับเพื่อนฝูง

ดูหนัง

เที่ยว

ซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ

หรือผ่อนรถผ่อนมือถือรุ่นใหม่

ใครก็มีฝัน อยากมีรถยนต์

มีบ้าน

มีคอนโด

มีที่ดิน มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง


ทั้งนี้ในฐานะนายจ้าง มักมีคำถามว่าเราใช้เงินเพื่อจูงใจให้เกิดคุณภาพการทำงานที่ดีขึ้นได้หรือไม่ ??

เป็นไปได้ไหม ที่เราจะจ้างให้แพงขึ้น หรือมีเงินพิเศษ เพิ่มขึ้นจากปกติ แล้วเขาจะขยันและรับผิดชอบมากขึ้น ??


คุณคิดว่า ถ้าจ้างยามเฝ้าลานจอดรถ แล้วให้ค่าจ้างจากเดิม 300 เป็น 400 บาท เขาจะไม่นั่งหลับเวลาเข้าเวร กระตือรือล้นเวลามีรถเข้ามาจอด หรือสอดส่องดูความปลอดภัยมากขึ้นหรือเปล่า ??

คุณคิดว่า ถ้าจ้างกุ๊กทำอาหารด้วยเงินเดือน 2 หมื่น แล้วเพิ่มเป็น 3 หมื่น เขาจะทำอาหารอร่อยขึ้น ปรุงเสร็จได้เร็วขึ้น หรือรักษามาตรฐานของรสชาติให้สม่ำเสมอทุกจาน เป็นไปได้ไหม ?

คุณคิดว่า ถ้าหมอมือปืนที่จ้างด้วยเงินประกัน 3000 แล้วเพิ่มเป็น 5000 จะทำให้หมอเขาอุดฟันสวยขึ้น ขูดหินปูนเบาขึ้น พูดจากับคนไข้ดีกว่าเดิม เป็นไปได้ไหม ?

คุณจะให้โบนัสพิเศษแก่สัตวแพทย์ลูกน้องในคลินิกเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ถ้าดูแลและเอาใจใส่หมาของลูกค้าได้เป็น 2 เท่า มันเป็นไปได้ไหม ?

 

เราจะจูงใจให้เขาทำงานได้แค่ “มากขึ้น”

1.ชั่งโมงทำงานนานขึ้น เช่น แบบ OT หรือการล่วงเวลา  การทำงานนอกเหนือจากเวลางานปกติ

2.ภาระงานมากขึ้น” เช่น แม่บ้านที่คุณจ้างไว้เพื่อทำความสะอาดในคลินิก คุณจ้างเขาให้ช่วยซักผ้า และดูแลหมาของคุณเพิ่มโดยการเพิ่มเงินเดือนให้

3.ความสามารถมากขึ้น เช่น พูดภาษาอังกฤษได้ ใช้โปรแกรมคอมฯตัดต่อภาพได้ โดยให้ค่าจ้างเพิ่มตาม skill mี่เขาพัฒนาขึ้นมา

 

ทั้งนี้จะคาดหวังให้เขาทำงานมี”คุณภาพมากขึ้น” ไม่ได้

  1. อยากให้พูดเพราะขึ้น ก็เลยให้เงินเพิ่ม  เป็นไปไม่ได้
  2. อยากให้ต้อนรับและบริการคนไข้ดีขึ้น
  3. อยากให้ใจเย็นขึ้น
  4. อยากให้รักคลินิก หรือ บริษัทมากขึ้น
  5. อยากให้ซื่อสัตย์มากขึ้น
  6. อยากให้ขยันมากขึ้น
  7. อยากให้กระตือรือล้นมากขึ้น
  8. อยากให้มีน้ำใจมากขึ้น
  9. อยากให้มีสัมมาคารวะมากขึ้น
  10. และอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของบุคลิกภาพและนิสัย

10 เรื่องนี้ ใช้เงินซื้อไม่ได้ ต่อให้เอาเงินเป็นบึกๆกี่แสนกี่ล้าน ก็จะเกิดลักษณะ “เอาเงินฝาดหัว แต่ตัวไม่ขยับ”

แล้วถ้าอยากให้เขามีคุณสมบัติครบทั้ง 10 ข้อที่กล่าวมา จะต้องทำอย่างไร

วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเลือกคนที่ดีมาร่วมงานตั้งแต่ต้นครับ ๕๕๕

แต่คนเรามันพัฒนากันได้ แต่ต้อง Dif Diag ให้ถูกก่อน



3.อยากได้คนเก่ง หรือแค่ขี้เกียจสอน ?

โดยมาก เวลาเราจ้างคนมาในองค์กร เราย่อมอยากได้คนที่มีความสามารถ

เพราะจะได้ไม่ต้องเหนื่อยสอนงานให้มากมาย ถูกไหมครับ

ผมเห็นด้วยความลูกจ้างที่มีประสบการณ์จะช่วยลดภาระเรื่องการสอนงานลงไปเยอะ และยังลดความเสี่ยงที่เขาจะลาออกเพราะไม่ชอบเนื้องาน (เพราะเขาเคยทำมาอยู่แล้ว)

แต่ทั้งนี้

ถ้าคุณได้พนักงานใหม่ที่เก่งทุกอย่าง skillful ทุกเรื่อง แต่นิสัยไม่ดี เห็นใครดีกว่าไม่ได้ ชอบนินทาว่าร้าย แกล้งคนอื่น บีบให้คนอื่นอยู่ไม่ได้ ควรยังจะจ้างไหม ?


เวลาเราจะจ้างใครสักคน สองสิ่งที่ต้องพิจารณา ได้แก่

  1. นิสัย   ได้แก่ บุคลิก ทัศนคติ สันดาน และความคิด
  2. ความสามารถ ได้แก่ ประสบการณ์ ชั่วโมงงานที่เคยทำ skill ความรอบรู้ทางวิชาการ และความถนัด

เราควรให้น้ำหนักเรื่องใดมากกว่ากัน ??


ความสามารถเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนและพัฒนากันได้หลายช่องทาง

  1. ส่งไปเรียน อบรม
  2. มีระบบสอนงานที่ดี
  3. มีพี่เลี้ยงที่สอนงานเป็นคอยประกบ
  4. ให้ฝึกทำงานบ่อยๆซ้ำ จนชินงาน
  5. ให้การบ้าน
  6. มีการสอบ วัดผล

จะเห็นได้ว่าความสามารถเป็นสิ่งที่เพิ่มได้เสมอ นอกจากเสียว่าท่านได้เอาคนที่โง่เง่ามากๆมา ประเภทไม่มีสมอง อันนั้นไม่ควรรับมาทำงาน อย่างน้อยต้องเป็นคนที่เหมือนมนุษย์มนาทั่วไป ยังไงก็สอนกันได้ ตามแต่ความสามารถในการเรียนรู้ของคนๆนั้น

แล้วนิสัย จะเพิ่มพูน หรือพัฒนากันได้อย่างไร ?

ส่งไปปฎิบัติธรรม หรือ ไปโบสถ์ แล้วจะเป็นคนนิสัยที่ดีขึ้น ? อย่างงั้นหรือ

หรือ ทำงานไปด้วยนานๆ นิสัยเลวๆจะค่อยๆหายไปเอง ?? คิดแบบเอาคนเข้าคุกเพื่อกลับออกมาจะได้เป็นคนใหม่ ??

นิสัย เป็นสิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุด

ไม่เชื่อท่านลองมองไปที่ตัวท่านเอง ท่านสามารถเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดีของตัวเองให้ดีขึ้นได้ไหม ? และที่สำคัญต้องเปลี่ยนอย่างถาวรสม่ำเสมอนะครับ ??

ยากใช่ไหมครับ อาจจะทำได้แต่ยาก ก็ถ้าตัวเองยังไม่มีปัญญาเปลี่ยนนิสัยตัวเอง…..การหวังว่าคนอื่นจะเปลี่ยนย่อมเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้

นิสัยพัฒนาได้ แต่หวังผลเหมือนกับการสอนงานให้มี skill มากขึ้นนั้นไม่เหมือนกัน


การจ้างคน ใหเลือกจ้างที่นิสัยก่อนการเลือกจ้างที่ skill 

เพราะ skill เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ง่ายกว่านิสัย


สำหรับองค์กรที่อยากได้คนเก่งๆมาร่วมงาน ต้องตอบตัวเองเหมือนกันนะครับ ว่าอยากได้คนเก่งมาเพราะอะไร

อยากได้คนเก่งมาเพราะเขาเก่ง มาช่วยเหลือองค์กรได้ดี หรือ อยากได้คนเก่งมาเพราะคุณขี้เกียจสอน จนยอมหลับตาข้างหนึ่งปล่อยให้คนนิสัยไม่ดีเข้ามาอยู่ในองค์กร………….


 

4.ลูกน้องมีปัญหา ต้นเหตุมาจากเราหรือเปล่า ?
 
 
ผมเชื่อว่าหลายครั้งเราจะพบว่า ลูกน้องไม่สามารถทำงานตามที่เราต้องการ
 
ทำงานมาตั้งนานแล้ว ยังไม่คล่อง หรือ ยังไม่เป็นงาน
การทำงานเป็นทีมต่ำ
ทำงานตัวใครตัวมัน
ไม่แบ่งงานกันให้ดี
เกี่ยงกันรับผิดชอบ
ไร้ระเบียบวินัย
ทำตัวตามใจชอบเสมือนไม่มีกฎเกณฑ์
ความรับผิดชอบขาดๆเกินๆ
ไม่เคารพกฎและกติกาของคลินิก
 
และเชื่อว่าหลายท่านก็ปวดหัว ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร และโทษว่าเป็นเพราะลูกจ้างเรานั้นเขาไม่ดี

 
ก่อนจะฟันธงว่าสาเหตเป็นเพราะลูกน้องไม่ดี
ต้องมองย้อนที่คลินิกครับว่าเคยสร้างระบบให้เขาทำงานหรือไม่ ??

 


 
ถ้าไม่มีกฎหมายบังคับให้ใส่หมวกกันน๊อค ตำรวจก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ไปจับคนที่ไม่ใส่ ตรงกันข้าม ถ้ามีกฎหมายควบคุมแล้วไม่ทำตามเองอันนี้ตำรวจมีสิทธิ์จับ
 
ถ้าคลินิกไม่เคยสร้างระบบ ไม่เคยมีกฎระเบียบหรือแบบแผนที่ชัดเจน จะไม่สามารถโทษลูกน้องในการทำงานได้เลย เพราะสาเหตุอาจจะมาจากการที่คลินิกไม่มีระบบ
 
ระบบ คืออะไร ?
 
ตัวอย่างของระบบที่ควรมี
 
 
1.Job description
 
คือ การระบุอย่างชัดเจนถึงขอบเขตและหน้าที่ของตำแหน่งงานนั้นๆ
การกำหนดอย่างชัดเจนจะทำให้ลูกจ้างทราบหน้าที่ อำนาจ และรายละเอียดของสิ่งที่ตัวเองจะต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เขาควรจะรับรู้ตั้งแต่สัมภาษณ์งาน ซึ่งลูกจ้างจะไม่มีสิทธิ์อ้างว่าไม่รู้หน้าที่ เช่น
 
ผู้ช่วยจะต้องรู้จักเครื่องมือทุกชิ้น (แปลว่า หน้าที่คือจะต้องจำทั้งหมดภายในระยะเวลาที่เรากำหนดไว้)
 
เวชระเบียนต้องใช้โปรแกรมเวชระเบียนได้อย่างคล่องแคล้วทุก Function (ไม่มีสิทธิ์อ้างว่าใช้ไม่เป็น เพราะมันคือหน้าที่)
 
2.การ ปฐมนิเทศน์
 
เหมือนตอนปี 1 ที่เราต้องไปฟังมหาลัยเขาปฐมนิเทศน์ เขาจะเตือนเราในกฎเกณฑ์ต่างๆ การแต่งกาย ข้อห้าม และระเบียบ คลินิกก็ควรมีเหมือนกัน อย่างน้อยก็ควรมีเวลาสัก 1-2 ชั่งโมงนั่งคุยกับพนักงานใหม่
 
เช่น
 
ห้ามแย่งผัวเพื่อนร่วมงาน แม้แต่การแลก Line ก็ไม่ควร
ห้ามแต่งตัวโป๊
การลางาน ลาป่วย พักร้อน มาสาย ขาดงาน มีเกณฑ์อย่างไร
ข้อปฎิบัติกับเพื่อนร่วมงานมีอะไร
อะไรที่เราต้องการต้องมีการชี้แจง อย่างน้อยควรพิมพ์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
 
3.คู่มือพนักงาน หรือสุดยอดคัมภีร์ แล้วแต่จะเรียก
 
พนักงานต้องทำงานอะไรอย่างไร ควรกำหนดไว้ ยิ่งละเอียดยิ่งดี อย่าให้เขาคิดเองเดาเองมั่วเองทุกเรื่อง
เช่น ถ้ามีลูกค้าต่อราคา จะให้พูดว่าอย่างไร ?
ถ้าลูกค้าถามเส้นทางการเดินทางมาคลินิก จะต้องอธิบายอย่างไร
รวมไปจนถึง ถ้ามีลูกค้าบ่น ด่า ร้องเรียน จะมีขั้นตอนการรับมืออย่างไร
 
สังเกตดีๆนะครับ สามอย่างนี้ ถ้าสื่อสารไม่ดีคลินิกเสียชื่อได้นะครับ
 
เช่น ถ้าเคาเตอร์บอกทางไม่เป็น ลูกค้าอาจจะหงุดหงิดแล้วเปลี่ยนใจไปคลินิกอื่นที่เดินทางสะดวกกว่า ถ้าคนไข้ด่าว่าหรือตำหนิแล้วเคาเตอร์อารมณ์ขึ้นแล้วมีปากมีเสียงกันจะแย่ไปใหญ่
 
4.การสร้างขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม อย่างชัดเจน
คู่มือเป็นรายละเอียดส่วนตัว แต่ในแง่การทำงานเป็นทีมจะต้องมีการกำหนดขอบเขต อย่าให้ทำกันเองแบบตัวใครตัวมัน
 
เช่น
 
การดูแลพื้นที่เพื่อความสะอาด ถ้าไม่คิดอะไรมาก เราอาจจะให้ลูกน้อง “ช่วยๆกัน” แต่ในทางปฎิบัติ จะเกิดการกินแรงกันง่าย เพราะคนที่ทำก็ทำจัง ส่วนคนที่อู้ก็จะหาทางเนียน ทำให้ความเป็นทีมมันแย่ลง
ถ้ากำหนดพื้นที่ที่ชัดเจนไปเลยจะลดปัญหาการเกี่ยงงาน
 
ผมส่งเสริมให้ทุกคลินิกทำ 4 ข้อที่แจ้งมา มันจะช่วยให้ลูกน้องทำงานง่ายขึ้นมาก เผลอๆปัญหารื้อรังในคลินิกของคุณจะหายไปอัตโนมัติจากการมีระบบเท่านั้นเอง
 
จะเห็นได้ว่า ในฐานะเจ้าของคลินิกหรือผู้บริหาร เรามีส่วนอย่างมากในการกำหนดขอบข่ายงานและสร้างระบบ และคงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกน้องจะลุกขึ้นมาสร้างเอง
 
ถ้าลูกน้องทำงานไม่ได้ดังใจ ลองมองดูว่าคลินิกเราเคยสร้างอะไรให้เขาเดินตาม หรือ เป็นเครื่องชี้นำหรือไม่ เพราะสาเหตุอาจจะมาจากเราไม่เคยมีระบบดีๆให้เขาเท่านั้นเอง


5.แม่พิมพ์ประจำคลินิก
ถ้าเราจะสอนลูกน้อง หรือ ปั้นเขาขึ้นมา ย่อมยุงยากใช่ไหม
ไหนจะสอนวิชาการ
ทัศนคติ
บุคลิก
ระบบ ระเบียบ
และที่สำคัญการจะสอนคน ย่อมหมายถึงเสียแรงคนในคลินิกไปอย่างน้อยหนึ่งคนเพราะเขาจะต้องเอาเวลามาสอนคนๆนั้น
และที่สำคัญ หลายๆคลินิกก็ไม่ได้มีระบบหรือแบบแผนในการสอนผู้ช่วยเหมือนโรงเรียนสอน เพราะหน้าที่หลักคือต้องรักษาคนไข้
และถึงแม้จะทุ่มเทสอน ก็ใช่ว่าจะออกมาดี เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สอนเก่ง ถ่ายทอดเก่ง

“ให้เอาคนดีเป็นแบบอย่าง” คำพูดโบราณๆ มีความหมายมาก
ปฎิบัติตามง่าย และเอามาใช้ในการสอนผู้ช่วยได้อย่างดี

หลักการคือคลินิกต้อง “ปั้น” ใครสักคนเป็น roll model แม่พิมพ์ให้ดีที่สุดที่จะทำได้ ทั้งเรื่องบุคลิก ความรับผิดชอบ ความสามารถ

เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามา การสอนงานนั้นเน้นให้เขา “ลอก” ทุกอย่างของแม่พิมพ์ท่านนั้น

คนที่เป็นแม่พิมพ์ก็สอนทุกอย่างที่ตัวเองเป็น ในการทำงานประจำวัน แบบนี้คนเรียนก็จะเรียนง่าย

เราก็แค่สั่ง “หนู ทำตามพี่เขาทุกอย่างนะจ๊ะ”

ส่วนแม่พิมพ์เราก็สอนไป และเป็นคนหลักที่จะประเมินความสามารถและความเหมาสม


ถามว่ายากไหม ที่จะต้องสร้างหรือหาใครสักคนมาเป็นแม่พิมพ์ มันก็ย่อมยากอยู่

คนเจ๋งๆ อยากได้ก็ต้องปั้น ต้องหา ต้องสร้างทั้งนั้น

แต่ถ้าเราได้แล้ว องค์กรจะเข้มแข็งขึ้นมากมาย  ยังไงก็คุ้มครับ


6.นายดีลูกน้องดี นายไม่ดีลูกน้องก็อยากไม่ดีบ้าง

ลูกน้องจะกลัวเจ้านายเสมอ

ยิ่งถ้าเป็นเจ้านายที่ระเบียบจัด มีความเที่ยงตรง และจริงจัง

เช่น ถ้าหัวหน้าเป็นคนตรงต่อเวลา ลูกน้องจะไม่ค่อยกล้า “มาสาย” เพราะมันน่าเกลียดมากที่เจ้านายนัดแล้วมาสายกว่านาย ถ้าเป็นประชุมที่มีผู้เข้าร่วมเยอะๆแล้ว ลูกน้องที่มาสายมักจะอาย หรือถึงขั้นแกล้งลาป่วยทีเดียว

ถ้าเจ้านายเป็นคนธรรมะธรรมโม และเกลียดสุรานารี การไปทานอาหารร่วมกันลูกน้องก็มักจะเกรงใจ ไม่ดื่มไม่แซวสาว

แต่ถ้าเจ้านายเป็นตรงกันข้ามละ ?

ลูกน้องมักจะรู้เรื่องของเจ้านาย มากกว่าที่เจ้านายรู้เสมอ

เมียเก็บหรือ กิ๊ก ยังแอบรู้เลย !

ถ้าเจ้านายมีนิสัยที่ไม่ดี นอกจากลูกน้องจะไม่ศรัทธาแล้วยังจะมีนิสัยที่ไม่ดีตาม

ถ้าเจ้านายเป็นคนขี้โกง ชอบคอรับชั่น ใต้โต๊ะ ไม่ซื่อตรง ลูกน้อยก็จะไม่รู้สึกผิดเวลาทำอะไรโกงๆ

“เจ้านายกูเลวกว่ากูเยอะ”  อะไรแบบนี้

ถ้าหมอฟันเจ้าของร้านพูดจากระโฉกโฮกฮากกับคนไข้ และไม่บริการดีๆ ลูกน้องก็จะไม่เห็นความสำคัญของการบริการดีๆ วันดีคืนดีเจ้านายอยากจะพัฒนาการบริการก็ยาก เพราะเป็นนิสัยหรือวัฒนธรรมองค์กรไปละ

บางคลินิกมีกฎ ห้ามพนักงานเล่นมือถือในเวลางาน (นอกจากโทรคุยเรื่องสำคัญ) แต่พอหมอฉีดยาชา และรอคนไข้ชา กลับถอดถุงมือกดมือถือใหญ่ ทั้งที่ห้ามใครต่อใครเล่นมือถือเวลาทำงาน แบบนี้ลูกน้องก็ไม่มีอารมณ์ร่วมจะเคารพกฎ เพราะรู้สึกสองมาตรฐาน

เจ้านายที่ชอบมาสาย ลูกน้องพอรู้ทัน ก็จะเริ่มมาสายตาม คลินิกเปิด 10.00 แต่เจ้านายเล่นมาซะบ่ายสอง ลูกน้องก็อู้งานมาเปิดร้านบ่ายก็พอสิ มาเร็วเพื่ออะไร แบบนี้ระบบระเบียบก็แย่กันไปหมด

เป็นไปได้ไหมที่เจ้านายจะได้ลูกน้องที่ดีกว่าตน ?

เป็นไปได้ แต่เขาจะไม่รักไม่ศรัธทา และพร้อมจะออกไปหานายใหม่ที่เขารู้สึกนับถือกว่า


กฎ หรือ ระเบียบ จะไม่มีความหมายถ้าไม่มีการเคารพและปฎิบัติตาม

โดยเฉพาะ CEO คลินิก


ในองค์กรย่อมมีกฎและระเบียบ คนที่จะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์คือ “เจ้าของคลินิก” เป็นคนแรกที่ต้องทำให้เขาเห็นเป็นแบบอย่าง การผิดกฎเราอาจจะปรับหรือทำโทษได้ แต่ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่การเคารพหรือทำตาม

ฟังแบบนี้แล้วก็จะนึกถึงกฎแรงดึงดูด

คนดีจะพบเจอคนดี

คนไม่ดี ก็จะเจอคนแนวเดียวกัน

ในฐานะเจ้าของคลินิก ผมค่อนข้างเชื่อกฎนี้นะ ทุกๆอย่างจะต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนเสมอ ไม่เว้นแต่การดูแลลูกน้องในคลินิกทันตกรรม



7.ความรักที่ทำลายองค์กร

เมื่อเราบริการและมีคลินิกทันตกรรมมาระยะหนึ่ง เราย่อมเกิดความรักความผูกพันธ์กับลูกน้อง อยู่ช่วยกันมานาน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ยิ่งนานวันยิ่งเหมือนคนในครอบครัว

ความรักเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ารักไม่ถูกที่ถูกทางอาจทำให้องค์กรพังได้

1.รักไม่เท่ากัน

เจ้านายมักจะรักคนเก่าคนแก่ อยู่คู่กันมานาน บางคนอยู่กับหมอตั้งแต่วันเปิดคลินิกจนถึงวันที่ขยายองค์กร หรือขยายสาขา

เจ้านายบางคนจะชื่นชอบคนที่เป็นผู้ช่วยข้างกาย หรือทำงานได้ถูกใจ บางคนเป็นมาจากบ้านนอกจังหวัดเดียวกันกับหมอยิ่งสนิทกันไปใหญ่

แต่ในฐานะเจ้าของกิจการ การแสดงออกว่าเราให้ความรักและยุติธรรมเท่าๆกันเป็นสิ่งที่สำคัญ และบางครั้งแม้ว่าเราคิดว่าเรายุติธรรมดีแล้ว แต่ลูกน้องบางคนมันอาจจะมโนฯ ว่าเราปฎิบัติไม่เป็นธรรม สิ่งนี้เราจะต้องละเอียดและคอยตรวจสอบ พร้อมกับไม่รีรอที่จะอธิบายและทำความเข้าใจ

การที่ลูกน้องเข้าใจผิด….โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ เพราะทิ้งไว้นานจะยิ่งมโนฯและเข้าใจผิดกันไปเรื่อยๆ

2.รัก….ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ลูกน้องคนไหนที่หมอรักพิเศษ บางทีหมอก็เกรงใจและยกโทษให้เขาได้ง่าย…เพราะรัก

และถ้าลูกน้องแสนรักของคุณหมอ นิสัยไม่ดี เป็นที่เกลียดชังของคนในองค์กรคนอื่นๆและสร้างปัญหาไปทั่ว คุณหมอจะแก้ปัญหาอย่างไร ?? บางครั้งเรียกมาคุยก็แล้ว ดุก็แล้ว ทำอะไรก็แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หมอก็ยอมๆไปเพราะรักและไว้ใจ เพราะเป็นลูกน้องคู่กาย

ตามหลัก อาจจะต้องเชิญออก หรือจ้างออก แต่หมอไม่กล้าทำ เพราะสงสารกลัวว่าเขาจะตกงาน หางานใหม่ไม่ได้ กลัวบาป กลัวสารพัด

แล้วยอมปล่อยให้ตัวเจ้าปัญหา (แสนรัก) อยู่ในองค์กรต่อไป

สร้างปัญหาต่อไป

ทะเลาะกับคนอื่นต่อไป

สุดท้าย ลูกน้องคนอื่นๆทนไม่ไหว ขอลาออก เพราะทน “ที่รัก” ของหมอไม่ไหว

หมอรักนะ….แต่เจ้าตัวไม่ยอมเปลี่ยนแปลง


การเลิกจ้างพนักงานที่ไม่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ลำบากใจ 

และถ้าเป็นพนักงานที่ทำงานด้วยกันมาอย่างยาวนาน ก็ยิ่งไม่อยากทำ 

แต่บางทีเราอาจจะต้องตระหนักในบทบาท CEO หรือเจ้าของกิจการ และฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่อยาก


หวังว่า 7 แนวคิดเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ในคลินิกทันตกรรมของท่านนะครับ

ยินดีแลกเปลี่ยนทุกความเห็นนะครับ

  • Share

2 Comments

  1. โชติรัตน์ แจ้งเจนกิจ says:

    เป็นแนวคิดในการบริหารที่ดีครับ พอจะเจาะลึกทางด้านธุรการได้มั้ยครับ เป็นต้นว่า รูปแบบการบริหารบัญชีและการ้งิน สต๊อกสินค้า PR&Marketing ฯลฯ

    1. หมอมด says:

      ส่วนตัวผมจะมีความถนัดทางด้านการตลาดเสียส่วนใหญ่ครับ อย่างในหัวข้อนี้เป็นแนวคิดส่วนตัวที่ผสมผสานและมาแบ่งปันเท่านั้นครับ

      ส่วนในด้านบัญชีและการเงินผมไม่เชี่ยวชาญหรือจะรู้ในระดับลึกพอจะมาเขียนเป็นบทความ ณ ตอนนี้

      ขอบพระคุณที่ติดตาม และเสนอแนะนะครับ เป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ

Leave a Reply to โชติรัตน์ แจ้งเจนกิจ Cancel reply

Your email address will not be published.