คลินิกทันตกรรมเอกชน จับมือกับภาครัฐ กับการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมจัดบริการผู้ป่วยกลุ่มบัตรทอง โดยคลินิกเอกชน

Posted on

คลินิกทันตกรรมเอกชน จับมือกับภาครัฐ การศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าถึงสุขภาพช่องปากที่ดีอย่างถ้วนหน้า : เก็บตกจากการประชุมร่วมกับเครือข่ายเพื่อศึกษาการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปาก ในวันที่ 12 มกราคม 2561

IMG_4733

ผมได้รับเชิญจาก เครือข่ายเพื่อศึกษาการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อช่วยออกความเห็นในแง่มุมของความเป็นไปได้ ปัจจัย และแนวทางการให้ความร่วมมือของหมอฟันในภาคของคลินิกทันตกรรมเอกชน ในโปรเจ็ค PPP

 

แปลว่าถ้าโครงการนี้ได้ก่อตั้งสำเร็จ คลินิกทันตกรรมเอกชน จะสามารถมีส่วนร่วมในการให้บริการคนไข้ที่มาใช้สิทธิ UC (ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ได้

 

ก่อนที่จะมาเล่ารายละเอียดของโครงการนี้ ขอเกริ่นที่มาก่อนสักเล็กน้อย

 

โปรเจ็ค PPP นี้คืออะไร ?

 

ในทางทันตสาธารณสุข เรามองว่าสุขภาพช่องปากที่ดี เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรจะเข้าถึงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เราควรมีความเท่าเทียมในส่วนนี้ โดยภาครัฐจะเป็นผู้นำเพื่อสร้างสวัสดิการที่เหมาะสม

ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) สิทธิค่าพยาบาลของข้าราชการและ ประกันสังคม เป็นตัวอย่าง 3 รูปแบบของสวัสดิการสังคมที่มีในปัจจุบัน

ในส่วนของ UC พบว่า คนไข้ส่วนใหญ่ยังมาใช้บริการยังค่อนข้างน้อยด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น โรงพยาบาลที่จะไปทำฟันยังมีจำนวนจำกัด ผู้ใช้บริการเยอะทำให้ต้องต่อคิวและเสียเวลา หมอฟันในส่วนราชการมีจำกัด และความสะดวกสบายในการมาใช้บริการ แต่ถ้าจะให้ภาครัฐเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลก็ต้องใช้เงินสูงและเสียเวลานานมาก (ตามภาษาราชการไทย)

แล้วเป็นไปได้ไหม ที่จะจับมือกับคลินิกทันตกรรมเอกชน เพื่อให้มาช่วยในส่วนนี้ และทางคลินิกเองก็มีผลตอบแทนที่เหมาะสม   หรือที่เรียกว่า Public Private Partnership (PPP)

ด้วยแนวคิดนี้ จึงมีการรวมตัวกันของคณาจารย์ นักวิชาการอิสระ ข้าราชการ และทันตแพทย์หลายท่านมาร่วมกัน พร้อมยังได้รับการสนับสนุนจากทันตแพทยสภาทำงานวิจัยเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐเอกชนในประเทศไทย” 

PPP

ทีมงานผู้วิจัย นำโดย ท่านอาจารย์ ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์  ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

และเนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นแนวทางการประสานผลประโยชน์และจับมือเพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมของฝ่ายเอกชนและรัฐ ผม (ทันตแพทย์ อภิชาติ ลีนานุรักษ์) จึงได้รับเกียรติเพื่อร่วมออกความเห็น รวมไปถึงการช่วยเหลือในกิจกรรมของงานวิจัยชิ้นนี้ ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธุ์ ที่เชื้อเชิญครับ

PPP 1

ผมเดินทางมาถึง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะเริ่มการประชุม ท่านอาจารย์ ธีรวัฒน์ ได้เกริ่นที่มาและความสำคัญของงานวิจัย ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมทีมงานวิจัย เพราะเป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ

ในฟากของเอกชนเรา ในวันที่คลินิกทันตกรรมคนไข้น้อย (หรือที่เรามักแซวว่านั่งตบยุง) เราอาจไม่ทันตระหนักว่าภายนอกคลินิกของเรา ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงการทำฟันได้ ทั้งที่เขาอาจจะมีความจำเป็นต้องรับการรักษา แต่ด้วยรายได้ที่น้อยนิด ทำให้การมีสุขภาพช่องปากที่ควรจะเป็นนั้นขาดตกไป

คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอยู่ในสภาพนั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ยากไร้ และห่างไกล

26938047_10213791649973183_1996519121_o

PPP นี้มีจุดประสงค์เพื่อขยายจุดการรักษาสู่ในส่วนของเอกชนที่อยากจะมีส่วนร่วม เพื่อให้กลุ่มคนที่กล่าวมาได้เข้าถึงการบริการด้านทันตกรรมมากขึ้น เพราะคลินิกทันตกรรมเอกชนมีจำนวนมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ย่อมช่วยขยายการเข้าถึงได้มากมาย

และคลินิกทันตกรรมเอง ก็ยังมีศักยภาพที่จะให้การรักษาคนไข้”เพิ่มได้อีก” เพราะหลายแห่ง Capacity ยังไม่เต็ม

อาจารย์ท่านได้ขยายความต่อเมื่อเราเริ่มการประชุม ทำให้ผมได้เห็นสถิติและงานวิจัยต่างๆที่น่าสนใจ อาทิ

ปี 2558 ที่ผ่านมา มีจำนวนประชากรที่มารับบริการทางทันตกรรมแค่ 8%

หมอฟันอยู่ในภาคเอกชน 49.35%

การรักษาด้านทันตกรรม 46.2% เกิดขึ้นจากฝั่งเอกชน

จากตัวเลข จะเห็นได้ว่าคุณหมอฟันในส่วนของภาคเอกชน มีบทบาทสูงมากในการเป็นผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพช่องปากในสัดส่วนพอๆกับภาครัฐเลยทีเดียว

26909617_10213791651093211_1024620569_o

ทั้งนี้ โครงการนี้ถือเป็นโครงการใหญ่ และเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น สปสช.  การจัดการด้านงบประมาน และที่สำคัญ การจูงใจและศึกษาบริบทของคลินิกทันตกรรมเอกชนอย่างละเอียดลึกซึ้ง อาจารย์ท่านบอกว่าโครงการนี้อยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ และคงมีอีกหลายโอกาสที่จะต้องขอความคิดเห็นจากคุณหมอสายคลินิกทันตกรรมเอกชนในหลายๆโอกาสในอนาคต ผมเองก็มีความยินดีที่จะช่วยประสานงานในส่วนนี้ ผมคิดว่าคลินิกทันตกรรมเอกชนหลายต่อหลายแห่งก็อยากมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย

ถ้าเราพิจารณาถึงประกันสังคมที่เพิ่มเพดานการเบิกเพื่อทำฟันเป็น 900 บาท และคลินิกเอกชนสามารถทำเรื่องเบิกจ่ายแทนตัวคนไข้ สิ่งนี้ส่งผลดีต่อหลายส่วน ทั้งการเข้าถึงการรักษาที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้นของประชาชน ลดปัญหาที่จะต้องสำรองจ่ายก่อน และคลินิกก็มีคนไข้มาใช้บริการเพิ่ม ถือว่าทางฝั่งเอกชนก็มีโอกาสจับมือกับภาครัฐมากขึ้นไปอีกระดับและมีส่วนสำคัญที่จะดูแลสุขภาพช่องปากให้ประชาชนได้คนอบคลุมและทั่วถึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะฉะนั้น การ “ขยับ” ของประกันสังคมรอบนี้ ผมถือว่าถูกต้อง เหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง

PPP เป็นโปรเจ็คที่มีประโยชน์อย่างมาก เป็นอีกภาพ เป็นอีกมิติ ที่เราอาจจะได้เห็นในวันข้างหน้า หวังเป็นอย่างยิ่งที่สิทธิบัตรทอง หรือ UC จะมีการเคลื่อนขยับบ้างสำหรับกรณีทันตกรรม

 

 

  • Share

0 Comments

Leave a comment

Your email address will not be published.