แรงจูงใจในการทำงาน … สร้างได้หรือไม่ ?

Posted on

 

…………..

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสฟังอาจารย์โกมาตร จึงเสฐียรทรัพย์ บรรยายที่เชียงใหม่ไม่นานมานี้  ท่านได้แชร์เรื่องเล่าเกี่ยวกับการให้ความหมายต่องานไว้อย่างน่าสนใจในตอนท้ายๆของการบรรยาย (ที่ผมถ่ายทอดต่ออาจจะตกหล่นไปบ้าง แต่ใจความยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์)

 

มีชายคนหนึ่งเดินเที่ยวชมวัด เขาพบกรรมกรสามคนกำลังก่ออิฐเพื่อสร้างกำแพงโบสถ์

คุณพี่ทำอะไรอยู่หรือครับ ? เขาถามกรรมกรคนที่หนึ่งที่กำลังก่ออิฐอยู่ “ผมก่ออิฐอยู่”

เขาถามกรรมกรคนที่สอง เขาตอบว่า “ผมกำลังทำงานหาเงินอยู่”

เขาถามคนที่สาม เขาตอบว่า “ผมกำลังทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา”

คนสามคน ทำงานเหมือนกัน ในสถานที่เดียวกัน และผลลัพธ์ก็เหมือนกัน (กำแพงโบสถ์) แต่สิ่งที่ต่างกันคือการให้ความหมายของงานที่ทำ

 

…………..

อะไรคือปัจจัย ที่ทำให้เรารักงานที่ทำ ?

การทำงานด้วยหัวใจ  เป็นอย่างไร ?

 

………….

 

คุณหมอหลายท่านที่เป็นผู้บริหาร เจ้าของคลินิก หรือหัวหน้าฝ่ายทันตกรรม มักจะต้องเผชิญปัญหาในการดูแลลูกน้องในองค์กรแตกต่างกันไป

ปัญหาคลาสสิคอันหนึ่งคือ พนักงานเหมือนมาทำงานไปอย่างงั้นเอง ไม่มีความรู้สึกรักองค์กร ไม่มีน้ำใจให้เพื่อนร่วมงาน ไม่มีความสามัคคี หลีกได้หลีก หนีได้หนี อู้ได้อู้ และพร้อมเปลี่ยนงานทันทีถ้าไม่พอใจ

จึงเกิดวลีประเภท เด็กเดี๋ยวนี้ทำงานไม่ทน คนยุคใหม่รักสบาย เจนวายเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หรือเป็นไปได้ไหมที่ปัญหาอยู่ที่เจ้านาย ?

……………….

เรื่องเล่าของอาจารย์โกมาตรสอดคล้องกับเหตุการณ์หนึ่งที่ผมเคยอ่านเจอ

ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แผนก ล้าง-ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ มีงานประจำวันวันที่สุดแสนจะซ้ำซาก จำเจ ต้องคลุกคลีกับเชื้อโรคและสิ่งสกปรก พนักงานในแผนกนี้จะหมุนเวียนเข้าๆออกๆ อยู่ตลอดเพราะเป็นงานที่ไม่มีใครอยากจะทำ บางคน สามเดือน บางคนไม่กี่วัน ตอนลาออกทุกคนจะเขียนเหตุผลคล้ายๆกัน คือ งานไม่เหมาะกับตัวเอง อยากได้งานที่ดีกว่านี้ งานนี้เป็นงานแรงงานที่ไม่มีคุณค่าใดๆ เป็นงานที่ทำแล้วไม่มีความสุข

แต่จะมีพนักงานอยู่คนหนึ่งที่ทำงานในแผนกนี้มาอย่างยาวนานถึง 15 ปี ในวันงานเลี้ยงประจำปีของโรงพยาบาลเขาได้รับเชิญขึ้นเวทีเพื่อเล่าถึงความรู้สึกของตนเองต่อโรงพยาบาลให้แก่พนักงานคนอื่นๆฟัง

เขาบอกว่า งานของเขามีความสำคัญมาก เพราะความสะอาดของอุปกรณ์ทุกๆชิ้นหมายถึงชีวิตของคนไข้ เขาต้องรับผิดชอบชีวิตของคนเหมือนที่คุณหมอต้องตรวจโรค วินิจฉัยและผ่าตัด งานของเขาจึงเป็นงานที่สำคัญมากและเขาดีใจอย่างยิ่งที่ได้รับผิดชอบงานที่ทรงคุณค่าเช่นนี้

 

………..

 

ถ้าคุณเป็นลูกน้อง หรือ กำลังถูกจ้างเพื่อทำงาน หนทางหนึ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในการทำงาน หรือการลองพิจารณางานของคุณว่ามันสำคัญเพียงใด (เรามีความสำคัญแน่นอน ไม่เช่นนั้น ก็คงไม่ถูกจ้างมาทำงานตั้งแต่แรก)

และถ้าคุณเป็นเจ้านาย หรือ ผู้บริหาร คุณจะทำอย่างไรให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกดังที่กล่าวมา

หรือแค่เดินไปพูดบอกเล่า ให้เขาได้ทราบว่างานที่เขาทำนั้นมีคุณค่า แล้วเขาจะรักในงานที่เขาทำทันที ….ก็ฟังดูง่ายไปหน่อยเนอะ

ในสมการของการสร้างแรงจูงใจ มันมีปัจจัยและองค์ประกอบมากมาย สิ่งที่เรามักคิดถึงเป็นอันดับแรกๆคือ เงิน

 

จริงอยู่ “เงิน” เป็นแรงจูงใจอันดับต้นๆและแรงมาก แต่ทั้งนี้ก็มีสิ่งที่สำคัญไม่แพ้เงินอีกมากมายและสำคัญพอๆกันด้วย เช่น ความสำเร็จ ความสุข ความมั่นคง ส่วนรวม บุญ ครอบครัว ความรัก การยอมรับนับถือ และอีก ก ข ค ง….. มากมาย

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณาจารย์ในสหรัฐได้พิสูจน์ปัจจัยที่สำคัญของแรงจูงใจ

นั่นคือ ผลของสิ่งที่ทำ หรือ ผลลัพธ์

 

………………………….

การทดลองจะเป็นการต่อหุ่นยนต์ LEGO โดยผู้ทำการทดอง จะได้รับตัวต่อที่ยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันไปต่อจนเสร็จ หลังจากต่อเสร็จจะได้รับเงินค่าจ้าง 2$ ต่อการต่อหุ่นยนต์ 1 ตัว และผู้ทำการทำลองจะสามารถขอทำต่อได้ โดยค่าจ้างจะลดลงทุกๆครั้งที่ต่อตัวใหม่  0.11 $

เพราะฉะนั้น ตัวที่ 2 เขาจะได้ 1.89 $ ตัวที่ 3 ค่าจ้าง 1.78$ และลดหลั่นกันไปเรื่อยๆ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ lego bionicle

 

ผู้ทำการทดลอง อยากจะเลิกการทำลองเมื่อใดก็ได้ ถ้าเมื่อใดที่เขาคิดว่าเงินมันเริ่มน้อยจนเขารู้สึกไม่คุ้มที่จะทำ เขาก็จะได้เงินทั้งหมดที่สะสมไปด้วย

มันจึงเป็น ความพึงพอใจในงาน vs ค่าจ้าง

ทั้งนี้ ในการทดลองจะแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม โดยสองกลุ่มนี้ มีสิ่งที่แตกต่างกันเล็กน้อย

กลุ่มที่ 1 (ในงานวิจัย เรียกกลุ่มนี้ว่า Meaningful) ทุกครั้งที่ผู้ทดลองประกบหุ่นยนต์เสร็จ ตัวหุ่นยนต์จะถูกเก็บลงใต้โต๊ะ โดยทีมงานจะแยกชิ้นส่วนแล้วเก็บกลับไปหลังจากการทดลองเสร็จสิ้น

แต่กลุ่มที่ 2 (กลุ่ม Sisyphus)  ทุกครั้งที่ผู้ทดลองต่อเสร็จ จะมีทีมงานนำหุ่นยนต์นั้นมาแยกชิ้นส่วนต่อหน้าต่อตาของผู้ทดลอง (ซึ่งเขาเพิ่งต่อเสร็จสดๆร้อนๆ) แยกใส่กล่องแล้วเก็บกลับไป

สรุป ทั้งสองกลุ่มจะได้เงินในกติกาเดียวกัน บนการทำงานที่เหมือนๆกัน จะแตกต่างกันก็คือ ผลงานของกลุ่มที่สองจะถูกทำลายลงทันทีที่สร้างเสร็จต่อหน้าต่อตา (โดยเหตุและผล คนที่ต่อไม่จำเป็นต้องสนใจอะไร เพราะเขาทำเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นเงิน)

ผมว่าทุกคนคงเดาออกว่างานวิจัยจะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร

ถูกต้องครับ !! กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ต่อหุ่นยนต์ เฉลี่ยแล้วมากกว่ากลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยยะสำคัญ

ผมว่าในส่วนนี้ก็ดูตรงไปตรงมา หุ่นยนต์ เป็นเสมือนผลงานที่เราทำ ถ้ามันถูกแยกส่วนต่อหน้าต่อตา ก็น่าจะเกิดอารมณ์เซ็ง เหมือนทำงานไปก็ไร้ค่า แม้จะได้เงินแต่ก็เป็นเพียงเงินที่ได้มาจากการออกแรงก็เท่านั้น

แต่สิ่งที่น่าสนใจในงานวิจัยชิ้นนี้ มันมีมากกว่านี้

คือในกลุ่มที่ 1 และ 2 จะสาารถแยกคนออกเป็นสองประเภท

คือ  A คนที่ชอบการต่อหุ่นยนต์ LEGO   และ  B คนที่รู้สึกเฉยๆ กับการต่อ LEGO

เพราะฉะนั้น ในกลุ่มที่ 1 คนที่ชอบต่อ LEGO (A) จะต่อหุ่นยนต์เป็นจำนวนที่มากกว่าและได้เงินค่าจ้างมากกว่า B

ก็คนเราชอบทำอะไร ก็ย่อมมีความสุข และพร้อมจะทำมันด้วยความสนุกอยู่แล้ว กลุ่ม A จะได้เงินเยอะกว่า B ก็สมเหตุสมผล

แต่

ในกลุ่มที่ สอง กลุ่มที่ต้องเห็นหุ่นยนต์ที่ตัวเองต่อโดยแยกชิ้นทันทีที่ต่อเสร็จ พบว่า ความชอบต่อ LEGO ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับจำนวนเงินค่าจ้างที่ได้รับ  คือเงินของ A และ B ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

แปลได้ว่า แม้จะรักการต่อ LEGO แค่ไหน แต่ถ้าต้องมารับรู้ว่าสิ่งที่สร้างมันจะโดนทำลายลง ก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครอยากจะทำ

…………….

ผู้บริหาร ที่ล้มเลิกโครงการที่พนักงานกำลังร่วมแรงร่วมใจกันวางแผนทำมาหลายเดือน

อาจารย์ที่ฉีกกระดาษออกแบบ ที่นักเรียนอุตส่าห์อดหลับทั้งคืนเพื่อให้ทำทันส่ง

รุ่นพี่ที่สั่งให้รุ่นน้องเผางานคัตเอ้าท์เพราะอยากทำโทษ

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำลายแรงจูงใจทั้งสิ้น

 

แต่ถ้าตรงกันข้าม

เราให้ลูกน้องออกแบบ แบบสอบถามลูกค้า หรือ แบบสอบถามความพึงพอใจ โดยให้เครดิตลูกน้องว่าเป็นเจ้าของผลงาน

เคสทำฟันที่สวยงาม เราเก็บภาพผลงานไว้แล้วส่งให้ลูกน้อง เพื่อขอบคุณผู้ช่วยทันตแพทย์ที่อยู่ช่วยข้างเก้าอี้ทำฟัน และเป็นส่วนหนึ่งของความประทับใจของคนไข้ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากต่ออนาคตของคลินิก

หรือเคสผ่าตัดในโรงพยาบาล ที่ใหญ่โตซับซ้อน สำเร็จลุล่วงได้ นั่นควรจะต้องยกเครดิตให้การทำงานของหน่วยย่อยๆทุกคน ตั้งแต่พนักงานเข็นเปล ยาม แม่บ้านที่ทำความสะอาด แผนกล้างเตรียมและล้าง นอกจากหมอศัลย์ หรือไม่ (แต่ภาพโฆษณา และประชาสัมพันธ์ ตามกำแพงและโปัวร์ ก็ล้วนเป็นแต่อาจารย์หมอ….ทั้งนั้น)

แต่สุดท้าย ผมว่าอยู่ที่หัวหน้าองค์กร หรือ CEO

ว่าเขามองลูกน้อง เป็นแค่ลูกจ้าง ที่เขาจะต้องจ่ายเงินเดือน เป็นเฟืองเล็กๆที่มีปัญหาก็หาชิ้นใหม่มาทดแทน

หรือเป็นอวัยวะที่สำคัญ ที่ไม่สามารถขาดได้ เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนอย่างมั่นคง

แรงจูงใจในการทำงานนั้นซับซ้อน

แต่ก็ไม่ถึงกับสร้างไม่ได้ ใช่ไหมครับ

 

 

 

  • Share

0 Comments

Leave a comment

Your email address will not be published.